โจทย์หิน ธปท.  สกัดบาทแข็ง เหตุปัจจัยนอกรุมเร้า

15 ต.ค. 2562 | 15:25 น.

       

กูรูฟันธง! มาตรการคุมบาทธปท.ใน 3 กลุ่มหลัก แค่ชะลอความผันผวน ไม่จบครั้งเดียว หวั่นเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน ชี้ทางออกลดดอกเบี้ยนโยบายพ่วงซอฟต์โลนช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอี ยกระดับธุรกิจระหว่างยอดขายหาย เร่งภาครัฐลงทุน แนะผู้ประกอบการเตรียมเงินสดรับมือผลกระทบลากยาว

การเคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 7.4 % โดยขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐฯแข็งค่าสุดเกินรอบ 6 ปีนับจากมิถุนายน 2556 โดยเฉพาะทิ้งห่างสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งไปเลย ทำให้ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายวิรไท สันติประภพ ออกมาระบุว่า อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการใน 3 กลุ่มหลักเพื่อแก้ปัญหาบาทแข็ง โดยคาดว่าน่าจะประกาศได้ภายใน 1-2 เดือน เช่น 

1.เปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายทั้งรายบุคคลและรายสถาบันหรือส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่มีรายได้ต่างประเทศให้โอนเงินตราต่างประเทศ 2. หาแนวทางไม่ให้การซื้อขายทองคำมีแรงกระแทกต่อค่าเงินบาท และ 3.ลดการเกิินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยส่งเสริมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน

 

โจทย์หิน ธปท.   สกัดบาทแข็ง  เหตุปัจจัยนอกรุมเร้า

วิรไท สันติประภพ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เมื่อเงินบาทยังขึ้นกับดอลลาร์ การจะออกมาตรการดูแลเงินบาทอาจทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีกรอบที่จำกัดและไทยไม่สามารถประกาศอัตราแลกเปลี่ยนค่ากลางได้อย่างประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ยากของธปท.ที่จะเปลี่ยนให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อน แนวโน้มต่อไป จึงมีประเด็นของผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ต้องจับตา ทั้งภาคธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและในประเทศรวมถึงภาคการท่องเที่ยว

ถ้าสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยลง หากไม่เพียงพอและตลาดจะคาดการณ์ต่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมเดือนธันวาคม ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าได้อีก แต่หากเฟดไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนตุลาคม ตลาดก็จะกดดันเฟดต้องลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปอยู่ดี ดังนั้นภาคธุรกิจต้องเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการทำธุรกิจและในยามฉุกเฉิน ระหว่างกำลังซื้อไม่มาและภาวะการค้าไม่น่ากระเตื้อง

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ส่วนตัวยังให้นํ้าหนักการดูแลค่าเงินบาท โดยวิธีง่ายสุดคือ ใช้นโยบายการเงินโดยธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงควบคู่กับการออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และธปท.ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องระยะยาว โดยปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการดอกเบี้ยถูกและทุกธนาคารร่วมทำ อาจกำหนดเวลา 5 ปี เพื่อช่วยภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เพราะระหว่างไม่มียอดขาย ผู้ประกอบการเองควรตระหนักถึงการพัฒนากระบวนการและยกระดับการทำธุรกิจ หรือแนวทางที่ 2 คือ กำหนดระดับการแข็งค่าของเงินบาท(ซึ่งธปท.ไม่ทำ) และเข้าดูแลเมื่อค่าเงินเกินระดับที่กำหนดหรือกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะเป็นในปีหน้าหรือระดับการแข็งค่าบนพื้นฐานระยะยาวและธปท.เข้าดูแลเมื่อค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่าเกินพื้นฐาน

 

โจทย์หิน ธปท.   สกัดบาทแข็ง  เหตุปัจจัยนอกรุมเร้า

 

ทั้งนี้หากประเมินจากจีดีพ ทั่วโลกจะพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ซึ่งมีจีดีพีประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์และหากเทียบราคาสินค้าแต่ละประเทศก็จะยกระดับประเทศไทยเป็นอันดับที่ 20 และมีจีดีพีเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายในไทยจะถูกกว่าประเทศอื่นถึง 3 เท่า ดังนั้นเงินบาทควรจะแข็งค่ากว่าปัจจุบันจึงจะปิดช่องว่างได้

 

รอบนี้ธปท.ต้องปล่อยให้บาทแข็งไปตามพื้นฐาน โดยต้องสอนและให้ตลาดปรับตัวเองรู้และเข้าใจ ไม่ใช่ธปท.จะรับบทหนักกับความคาดหวังของทุกคน และมาตรการที่จะออกมาเป็นเพียงการชะลอความผันผวนของเงินบาท เพราะปัจจัยหลักยังมาจากต่างประเทศทั้งสหรัฐฯและยุโรป

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบ ีไทยกล่าวว่า โจทย์ที่ธปท.จะทำหลักๆมี 2 เรื่องคือ การขยายเงินทุนไหลออก ซึ่งควรเปิดโอกาสให้นักลงทุนรับความเสี่ยงค่าเงินและเร่งการนำเข้าโดยเฉพาะภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำให้เอกชนมั่นใจ โดยสิ้นปีนี้ธนาคารยังมองเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.9 บาทต่อดอลลาร์และรอดูการส่งสัญญาณจากเฟดสิ้นเดือนตุลาคมนี้ แต่แรงกดดันค่าเงินนั้นนํ้าหนักยังอยู่ที่ต่างประเทศไม่ว่าจะเรื่องเฟด Brexit หรือเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังมั่นใจว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 6พฤศจิกายนนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตุว่า กรณีที่ธปท.จะผ่อนเกณฑ์เพื่อให้เงินทุนไหลออกนั้น ธปท.ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) เพราะมีเงินบางส่วนออกไปลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบัน ส่วนการดูแลค่าเงิน เพื่อเปลี่ยนทิศทางค่าเงิน จะต้องสู้กับตลาด ซึ่งธปท.ไม่สามารถทำมาตรการเพียงครั้งเดียวได้ จึงเสี่ยงที่จะเข้าข่ายจงใจบิดเบือนค่าเงินตามที่สหรัฐฯเคยตั้งข้อสังเกตไว้ อีกทั้งแม้ธปท.จะดำเนินมาตรการหลายด้านช่วงที่ผ่านมา เช่น ลดการออกพันธบัตรระยะสั้นให้น้อยลงหรือกำหนดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ(NR) ซึ่งทำให้ยอดเงินคงค้างของต่างชาติลดลงแต่บาทก็ยังแข็งค่า จึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

โจทย์หิน ธปท.   สกัดบาทแข็ง  เหตุปัจจัยนอกรุมเร้า