เปิดบริการแล้ว EEC-OSS หวังดึงลงทุน 1.7 ล้านล.

14 ต.ค. 2562 | 06:35 น.

 

อีอีซีเปิดให้บริการแล้ว “EEC-OSS” ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งโรงงานในเขตส่งเสริมพิเศษ 27 แห่ง อนุมัติ อนุญาตกฎหมาย 8 ฉบับ ใช้เวลา 78 วัน เร็วขึ้นกว่าปกติ 80 วัน ยันอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนผู้ประกอบการ คาด 5 ปี จะช่วยดึงเงินลงทุนได้ 1.7 ล้านล้านบาทได้ตามเป้า

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เห็นชอบแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่สะดวกและรวดเร็วในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 เปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS เป็นการให้บริการอย่างง่ายไม่ซับซ้อน มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทำหน้าที่เป็น ศูนย์กลางบริการรับคำขออนุมัติ อนุญาต และประสานหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับ ในการดำเนินงานพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ

ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 2 ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (IT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ ลดความซํ้าซ้อนเอกสารประกอบการพิจารณา ออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ รูปแบบการบริการที่ชัดเจน ขีดความ สามารถของระบบและแนวทางการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบนำร่องในการให้บริการผ่าน Website สามารถยื่นคำขออนุมัติอนุญาต ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เปิดให้บริการเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา

 

เปิดบริการแล้ว EEC-OSS  หวังดึงลงทุน 1.7 ล้านล.


 

 

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะเป็นการพัฒนาบริการให้ครอบคลุมบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ขยายบริการรองรับผู้ประกอบการหรือนักลง ทุนรายใหม่ ตามกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายพิเศษ พัฒนาระบบ Service Reequipment ระบบการให้บริการอื่นๆ เพิ่มบริการ การแก้ไข ต่ออายุ ยกเลิก ใบอนุญาต พัฒนาเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คลังข้อมูลและการจัดการความรู้ พัฒนาระบบติดตามประเมินผล ระบบรายงานสาร สนเทศอัจฉริยะ สำหรับผู้บริหาร พัฒนาระบบรับฟังความคิดเห็น และการจัดการข้อร้องเรียน

นางสาวทัศนีย์ เกียรติ-ภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนัก งานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า EEC-OSS จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในเขต ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 27 แห่ง ตามที่ประกาศไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการขออนุมัติ อนุญาตตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตใช้ที่ดิน จดทะเบียนพาณิชย์ ขุดดินถมดิน ขออนุญาตก่อสร้าง ขอรับรองอาคาร ขอประกอบกิจการลงทะเบียนเครื่องจักร และการขอเปิดกิจการ

ทั้งนี้ จะใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 78 วัน ใช้เอกสารประกอบการเพียง 42 รายการ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และติดต่อเพียงหน่วยงานเดียว เป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนให้กับนักลงทุน จากปกติที่ลงทุนอยู่นอกเขตส่งเสริมฯจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานรวมทุกขั้นตอนประมาณ 158 วัน มีเอกสารประกอบการมากกว่า 60 รายการ และต้องติดต่อ 3 หน่วยงาน โดยหลังจากเปิดให้บริการระยะที่ 2 ไปแล้ว ใน 180 วัน ทางสกพอ.จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ เพื่อเข้าสู่ การดำเนินงานในระยะที่ 3 ต่อไป

 

จากการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จนี้ เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีมากขึ้น เนื่องจากการขออนุมัติ อนุญาตต่างๆ ที่มี ความล่าช้า เป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งของการตัดสินใจที่จะมา ลงทุน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ โดยมองว่าการอำนวยความสะดวกที่รวดเร็วนี้ จะช่วยให้เป้าหมายการลงทุนในอีอีซีที่วางไว้ 1.7 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปี จากนี้ไป มีความเป็นไปได้สูง เพราะทุกโครงการที่จะเข้ามาลงทุนใน 27 เขตส่งเสริมฯ จะต้องเข้ามาใช้บริการผ่าน EEC-OSS

อีกทั้ง จะช่วยให้ผู้พัฒนา นิคมหรือที่เป็นนิคมอยู่แล้ว เร่งมาขอยกระดับการเป็นเขตส่งเสริมพิเศษกับสกพอ.มากขึ้นด้วย เพื่อเป็นปัจจัยดึงนักลงทุนเข้ามาเช่าหรือซื้อพื้นที่ลงทุนของตัวเอง

นางปนัดดา เย็นตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการผู้ประกอบการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการอนุมัติ อนุญาต มีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การประสานงานของกนอ.อยู่ 4 ฉบับ ซึ่งฅน้อยกว่า EEC-OSS ที่มีอยู่ถึง 8 ฉบับ แต่จะเป็นส่วนที่จะมาเสริมช่วยอีอีซีในการเชื่อมโยงข้อมูลไว้ด้วยกัน เพราะหากผู้ประกอบการจะลงทุนนอกเขตส่งเสริมฯ ก็สามารถมาขออนุมัติ อนุญาตกับกนอ.ได้เช่นกัน ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่มาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จนถึง เดือนสิงหาคม 2562 มีการลงทุนในนิคม 31 แห่ง ในพื้นที่อีอีซี  แล้ว จำนวน 3,663 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 2.73 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2.57 แสนคน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 16-19 ตุลาคม 2562

เปิดบริการแล้ว EEC-OSS  หวังดึงลงทุน 1.7 ล้านล.