แผนเหนือเมฆ‘ชิม ช้อป ใช้’ จุดกระแสสังคมไร้เงินสด

14 ต.ค. 2562 | 03:20 น.

 

เปิดให้ประชาชนลงสมัครในโครงการชิม ช้อป ใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าผ่านไปเพียง 13 วัน ครบจำนวน 10 ล้านคน (เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม)ใช้เงินทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท

เรียกได้ว่าคนลงทะเบียนสมัครถล่มทลาย อดตาหลับ ขับตานอน เพื่อจะลงทะเบียนรับเงิน 1,000 บาท

แม้โครงการนี้จะโดนถล่มว่าเป็นโครงการแจกเงิน รัฐบาลได้ประโยชน์กับประชาชน 10 ล้านคน ผู้ซื้อ-ผู้ขายได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการได้ประโยชน์และ สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์ เพราะเป็นโครงการหาเสียงประมาณนั้น

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งบรรดาแวดวงไอที ต่างสนับสนุนเพราะเป็นจุดเริ่มต้นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง จากที่กล้าๆ กลัวๆ ดิจิทัลกลับกลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ถึงจะโดน disrupt แต่ทุกคนต้องปรับตัว

 

จุดประกายสังคมไร้เงินสด

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และ ผู้บริหารโครงการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สำหรับโครงการชิม ช้อป ใช้ เป็นโครงการกระจายเงินงบประมาณเพื่อสร้างกระแสเงินสดเข้าระบบให้เกิดการจับจ่ายและขับเคลื่อนกงล้อเศรษฐกิจแบบที่หลายๆ คนเข้าใจในช่วงแรกๆ ซึ่งอาจมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง

สำหรับยุทธศาสตร์โครง การนี้ไม่เป็นเพียงแค่การกระจายเงินงบประมาณเข้าระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หรือ ไม่ได้เป็นเพียงการใช้แอพพลิเคชันเป๋าตังหรือ เทคโนโลยีธรรมดา

แต่เป็นการคิดที่เป็นระบบรวมถึงสร้างกระบวนการรับรู้ หรือ สัมผัสเรื่องสังคมไร้เงินสดใน แบบวงกว้าง และยังผนวกเรื่อง อื่นๆ ในกระบวนการชิม ช้อป ใช้ ได้อย่างยอดเยี่ยมมากกว่าแค่ นโยบายแจกเงิน โปรยงบประมาณแบบที่ผ่านๆ มา

 

 

 

ปลุกกระแส e-wallet

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน หากจะบอกว่า แอพพลิเคชันเป๋าตังที่รัฐบาลใส่เงินลงไปจำนวน 1,000 บาท ในรูปแบบ e-wallet แม้คนรุ่นใหม่คุ้นเคยการใช้งาน

แต่ถ้าย้อนดูจะพบว่า e-wallet ที่ภาคธุรกิจให้บริการก่อนหน้านี้ มีการใช้งานกระจุกตัวแค่คนเมือง วัยรุ่น  คนรุ่นใหม่หรือแม้แต่จุดรับชำระยังมีข้อจำกัด

หากเราอยากให้ภาพของการสร้างสังคมไร้เงินสดของไทยขยายตัว ได้รับความนิยมแบบประเทศจีน หรือ ประเทศแนวหน้าในยุโรปที่ใช้จ่ายผ่านร้านค้าริมทางได้ หรือลงถึงคนทุกกลุ่มยังห่างไกลนัก e- wallet ภาคธุรกิจที่ให้บริการก่อนหน้านี้มียอดผู้ใช้แค่ 1 ล้านราย บางแอพที่ว่าสำเร็จๆ หน่อย ก็ไม่ถึง 10 ล้าน

 

แผนเหนือเมฆ‘ชิม ช้อป ใช้’  จุดกระแสสังคมไร้เงินสด

 

 แต่จากปรากฏการณ์ของ ชิม ช้อป ใช้ ผ่านเป๋าตังและถุงเงินถ้าไม่มองหรือตัดทิ้งนโยบายแจกเงินออกไป ถือว่าเป็นการสร้างฐานผู้ใช้ e-wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เดียวครั้งมโหฬารที่สร้างยอดผู้ใช้ 10 ล้านรายในทันที

แม่ค้า คนสูงวัย คนต่างจังหวัด ร้านค้าที่ไม่ใช่ห้าง ของนายทุน และอื่นๆ ทุกคนเห็นแล้วว่าดิจิทัลเพิ่มโอกาสให้เขาได้ บางร้านเล็กๆ ยังงงเลยว่าเงินเพิ่มจากช่องทางนี้วันละ 500-1,000 บาทสำหรับคนค้าขายคือโอกาสและ กำลังใจ

 

จุดชำระเงินพุ่งนับล้าน

ไม่เพียงเท่านี้ นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการรับรู้กระเป๋าเงินแล้วยังเป็นการสร้างจุดรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีกนับล้านจุด ที่ไม่ใช่แค่ร้าน กาแฟหรู ห้าง หรือร้านค้าใหญ่ๆ แต่ลงถึงร้านย่อย แม่ค้า ร้าน ริมทาง ในชนิดที่ตัวเลขเดียวกันระดับนี้ แอพกระเป๋าเงินบางชนิด หรือแม้ของต่างประเทศเองยังต้องใช้เวลาสร้างฐานผู้ใช้หลายปีกว่าจะขยายการเติบโต

ในส่วนการสร้าง UX หรือภาษาโปรแกรมเมอร์นักพัฒนาโปรแกรมเรียกว่า ประสบการณ์ผู้ใช้ (user experience) ที่ต้องบอกว่าเกิดกระแสการลอง เรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีกันขนานใหญ่ ในคนทุกระดับแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

คิกออฟระบบ NDID

เบื้องหลังหน้าตาของ แอพชิม ช้อป ใช้ที่บางคนอาจคิดว่า ก็แค่แอพธรรมดาทั่วๆ ไปบนมือถือ แต่แท้จริงแล้วระบบนี้ได้ลองใช้ระบบลงทะเบียนและพิสูจน์ทราบตัวบุคคลทางดิจิทัล หรือ National Digital ID หรืออีกหน่อยจะคุ้นชินกันมากขึ้นในชื่อ NDID มาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

ส่วนระบบสแกนใบหน้าวันนี้อาจจะดูว่าระบบยังไม่เสถียร แต่ต้องบอกว่า NDID ได้ถูก Kick-off ใช้งานจริงแล้ว และในอนาคตจะยิ่งใช้มากขึ้น มีโหนดสำหรับการดึงข้อมูลระบุตัวตนจากหลายแหล่งมากขึ้นที่จะให้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น ดังนั้น  NDID จะใช้ในธุรกรรมอีกมากมายในอนาคต

ถือว่าโครงการชิม ช้อป ใช้ที่รัฐยอมทุ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท ได้ประโยชน์มหาศาล แม้ระบบยังไม่เสถียร แต่เป็นการจุดกระแสสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

แผนเหนือเมฆ‘ชิม ช้อป ใช้’  จุดกระแสสังคมไร้เงินสด