ผลวิจัยชี้"คนไทย"ไม่ยึดติดแบรนด์ "ค่ายรถ"มองอนาคตลุยขายออนไลน์

15 ต.ค. 2562 | 03:15 น.

“กูเกิล” เผยผลสำรวจคนไทย 62% ซื้อรถใหม่โดยไม่ยึดติดแบรนด์เดิม และเชื่อข้อมูลในโซเชียลมีเดียมากขึ้น ค่ายรถเด้งรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ลุยสื่อสารผ่านทุกแพลตฟอร์ม เริ่มทดลองรับลงทะเบียนจองออนไลน์ ก่อนมีแผนลดบทบาทพนักงานขายในอนาคต

ยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก ไล่ล่าธุรกิจที่ไม่ปรับตัว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์เต็มๆ โดย 4 สมการหลักๆ ที่ต้องเผชิญและแก้ให้ตกคือ การขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ระบบเชื่อมโยงการสื่อสาร อีโคโนมีแชริ่ง และออโตโนมัสต์ไดรฟ์

เหล่านี้มีผลตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้ง การพัฒนาโปรดักต์ การทำตลาด การขาย การใช้งานจริงของลูกค้า และบริการหลังการขาย ที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนโปรดักต์ ทุกค่ายรถวางแผนมุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วยกันทั้งหมด เพียงแต่ช่วงเวลาความช้า-เร็ว และแนวคิดของระบบขับเคลื่อนต่างกันไป

แต่สิ่งที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เริ่มตระหนักและศึกษาอย่างจริงจังคือ พฤติ กรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และทำอย่างไรให้คนรู้สึกอยากซื้อรถ เพราะระยะหลังคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการซื้อรถ หรือหลงใหลในการครอบครองรถน้อยลง ที่สำคัญยังพบ ว่าความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ลดลงเช่นกัน

 

ผลวิจัยชี้"คนไทย"ไม่ยึดติดแบรนด์ "ค่ายรถ"มองอนาคตลุยขายออนไลน์

 

ผลวิจัยล่าสุดของ “กูเกิล” (Google) เสิร์ชเอ็นจินรายใหญ่ของโลก ระบุว่า 62% ของคนไทยที่ซื้อรถยนต์ตัดสินใจเลือกแบรนด์ที่ต่างจากแบรนด์เดิม โดยเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 6% โดยพบว่าปัจจัย 3 อย่างแรกที่มีอิทธิพลในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ของผู้บริโภค ได้แก่

1.ความประหยัดเชื้อเพลิง และมีรุ่นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย 2.ความเสถียรของรถยนต์ 3.ความหลากหลายของตัวเลือกในการปรับแต่งรถ

แม้ผลวิจัยและการใช้คำจะออกมาแปลกๆ แต่เชื่อว่ามีส่วนอ้างอิงกับสถานการณ์จริงพอสมควร ซึ่งการศึกษานี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Google และ Kantar ที่สำรวจพฤติกรรม
ผู้ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ชายและหญิง จำนวน 520 คนในประเทศไทย

ผลวิจัยยังระบุว่า ผู้บริโภคใช้เสิร์ชเอ็นจินและเว็บไซต์ของแบรนด์รถยนต์เป็นแหล่งข้อมูลหลักบนโลกออนไลน์ โดย 99% ของผู้ซื้อรถยนต์ชาวไทยจะใช้เสิร์ชเอ็นจินในการค้นหารถใหม่ที่สนใจ รวมถึงการค้นหาดีลและโปรโมชันที่ดีที่สุด นอกจากนี้ 80% ยังเข้าไปศึกษาข้อมูลบนเว็บไซต์ของแบรนด์รถยนต์ก่อนตัดสินใจซื้อ

นั่นเป็นผลสำรวจของ Google ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เองเร่งปรับตัวไปในทิศทางนี้อยู่แล้ว ทั้งตั้งทีมการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ และทุ่มเงินเพื่องานประชาสัมพันธ์ไปยังทุกแพลต ฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ผ่านช่องทางของตนเองและจ้างสื่อมวลชน รวมถึง Blogger, Infuencer

มากไปกว่านั้น ยังเห็นการขายรถบนโลกออนไลน์ ที่บริษัทแม่สร้างระบบผ่านเว็บไซต์, แอพพลิเคชัน ขึ้นมาโดยตรง (ไม่ใช่พนักงานขายของดีลเลอร์ ทำเองผ่านเฟซบุ๊ก หรือไลน์) ทั้ง บีเอ็มดับเบิลยู มินิ รอยัลเอนฟิลด์ (มอเตอร์ไซค์) เพื่อรับจองโดยตรงล่าสุดกับ “มาสด้า 3 โฉมใหม่” สีเทาพิเศษ ก็เดินแนวทางนี้หวังเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาถึงแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ในอนาคต

 

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า มาสด้า 3 ตัวถังฟาสต์แบ็ก 5 ประตู สีเทา “โพลีเมทัล เกรย์” (Polymetal Gray) ที่เปิดให้จองผ่านระบบออนไลน์ มียอดลงทะเบียนกว่า 200 คัน แล้ว

“เราลองนำสีพิเศษนี้มาเปิดขายแบบออนไลน์ และพบว่าลูกค้าให้ความสนใจจองเข้ามาเป็นจำนวนมากขณะที่ดีลเลอร์เองมีฟีดแบ็กที่ดีกับการขายออนไลน์ เพราะเดิมพนักงานขายจะต้องอธิบายเรื่องโปรดักต์ หรือพาไปทดลองขับ พร้อมทั้งการเตรียมเอกสาร กรอกข้อมูล แต่เมื่อนำออนไลน์มาใช้ ลูกค้ามีการกรอกรายละเอียด ข้อมูล หลักฐานต่างๆ พร้อม ช่วยลดขั้นตอนหลายอย่าง ส่งผลให้การอนุมติสินเชื่อเร็วขึ้น ซึ่งบทบาทหน้าที่ของพนักงานขายต่อไป ต้องถูกอบรมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์เพื่อจะสามารถสื่อสารและช่วยเหลือลูกค้าได้”

การเปิดจองหรือขายออนไลน์ ทำให้บริษัทรถยนต์สามารถเก็บข้อมูล หรือดาต้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้ อีกทั้งยังนำดีมานด์ต่างๆ มาประกอบการวางแผนผลิตรถให้สอดคล้องกัน ประการต่อมาคือ ไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้รวดเร็วขึ้น

“บิ๊กดาต้า จะมีความสำคัญอย่างมาก เราสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต เพราะรู้ปริมาณความต้องการของลูกค้า การขายของ ดีลเลอร์ ไปจนถึงการเช็กข้อมูลของลูกค้าว่าติดเครดิตบูโรอยู่หรือไม่ ซึ่งมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ดังนั้นในอนาคตจะขยายสัดส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น” นายธีร์ กล่าว

สำหรับ “มาสด้า 3 โฉมใหม่” เปิดตัวในไทยวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา วางเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร มีให้เลือกทั้งตัวถังซีดาน 4 ประตู และฟาสต์แบ็ก 5 ประตู ราคา 9.69 แสน- 1.198 ล้านบาท โดยส่งมอบรถให้ลูกค้าไปแล้ว 631 คัน

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562