แกะรอยแก๊งสวา‘ปา(ล์)ม’ กฟผ.ซื้อเฉียด 2 พันล้าน

13 ต.ค. 2562 | 00:30 น.

 

เมื่อการเดินหน้านโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือชาวสวนปาล์มถูกตั้งคำถามว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เงินภาษีของประชาชนลงไปถึงมือเกษตรกรจริงหรือไม่

ในรายการ NEWSROOM ห้องข่าวเศรษฐกิจ ช่วงลึก แต่ไม่ลับ กับ บากบั่น บุญเลิศ ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.30-11.50 . เนชั่นทีวีช่อง 22 ดำเนินรายการโดย บากบั่น บุญเลิศ และ วิลาสินี แวน ฮาเรน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ชื่อตอน แก๊งสวาปา(ล์)มันมาอีกแล้ว! กฟผ.ซื้อเผาไปเฉียด 2 พันล้าน

นายบากบั่น เปิดหัวรายการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการดูแลราคาปาล์มนํ้ามันที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ต่อเนื่องถึง รัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่า การดำเนินนโยบายนี้ในครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดมาตรการยกระดับราคาปาล์มนํ้ามันเพื่อพยุงราคาปาล์มนํ้ามันที่กำลังตกตํ่าที่ 1.90 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 3-4 บาทต่อกิโลกรัมโดยรับซื้อมาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจำนวน 1.6 แสนตัน วงเงิน 2,880 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ราคาปาล์มนํ้ามันที่ได้ผลักดันกันมาซึ่งมีราคาอยู่ที่ 2.98 บาทต่อกิโล กรัมนั้น ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลประยุทธ์ 2” จึงดำเนินนโยบายเรื่องนี้ใน 2 แนวทางโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศเปิดทางให้เดินนโยบายรับซื้อจากเกษตรกรไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน ในราคา 4 บาทต่อกิโลกรัมโดยผู้มีสิทธิต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ มีทั้งสิ้นประมาณ 3 แสนครัวเรือน

อีกแนวทาง กระทรวงพลังงาน โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิต นํ้ามัน B10 ให้มากขึ้นโดยให้ทุก โรงกลั่นนํ้ามันต้องมีการบริการนํ้ามัน B10 ทั้งนี้ทั้ง 2 แนวทาง ดังกล่าวมุ่งที่จะดึงปริมาณนํ้ามันปาล์มดิบออกจากตลาดให้มากที่สุด

 

แกะรอยแก๊งสวา‘ปา(ล์)ม’  กฟผ.ซื้อเฉียด 2 พันล้าน

 

และในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ออกประกาศโครงการรับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบจากเอกชนเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าตามแนวทางดูดซับนํ้ามันปาล์มดิบ จำนวน 1.1 แสนตัน วงเงินราคากลางที่ 1,925,000,000 บาท โดยมีทีโออาร์ และร่างสัญญาซื้อขายนํ้ามันปาล์มดิบ ตามแนบท้ายประกาศฉบับนี้ มีกำหนดการยื่นข้อเสนอต่อ กฟผ.ในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 .

รู้เลยว่าใครจะได้...” นายบากบั่น ระบุ ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกสารแนบท้ายที่กำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาไว้ ซึ่ง มีคุณสมบัติประการหนึ่งที่น่าสนใจ กำหนดไว้ในส่วนของคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามเอกสารแนบท้ายนั้นว่า ผู้ยื่นเสนอราคาต้องเป็นโรงสกัดนํ้ามันปาล์มที่มีสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบไม่น้อย กว่า 50% ของนํ้ามันปาล์มดิบที่เสนอขาย และต้องเป็นนํ้ามัน ปาล์มดิบที่โรงงานสกัดเอง ทั้งจำนวนที่เสนอขายและเก็บสต๊อกในคลังของตัวเองเท่านั้น


 

 

กล่าวคือ ผู้ที่จะยื่นเสนอราคาที่ 17.50 บาทได้ ต้องมีสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบอยู่ในคลังตัวเอง 50% ถ้าเป็นเช่นนี้ แปลความง่ายๆ ซื้อนํ้ามันปาล์มดิบจากสต๊อกไง แล้วเกษตรกรจะได้อะไร ไหนบอกว่าจะช่วยเกษตรกร สมมติถ้าผมไม่มีสต๊อก แต่ผมผลิต ผมก็ต้องไปซื้อมาจากเกษตรกร แต่ถ้าผมมีในสต๊อกเกินกว่า 50% ผมจะไปซื้อจากเกษตรกรทำไม ผมก็ใช้สต๊อกเดิมของผมซิครับ...”นายบากบั่น ตั้งข้อสังเกต

ในรายการยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในเดือนสิงหาคม 2562 มีปริมาณนํ้ามันปาล์มดิบ ในระบบ แบ่งเป็น ผู้ประกอบการโรงสกัด 158 ราย รวม 246,032 ตัน โรงกลั่น 19 ราย รวม 82,931 ตัน คลัง 9 ราย รวม 157,660 ตัน ไบโอดีเซล 15 ราย จำนวน 6,554 ตัน รวมทั้งสิ้น 451,107 ตัน

และเมื่อดูสถิติย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ปรากฏตัวเลข ดังนี้ ในเดือนพฤษภาคมมีสต๊อกอยู่ที่ 380,687 ตัน เดือนมิถุนายนขยับขึ้นมาเป็น 400,441 ตัน เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 451,127 ตัน ต่อเนื่องมาถึงเดือนสิงหาคมที่ 493,177 ตัน และเดือนกันยายน 514,357 ตัน

จากตัวเลข พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง ถามว่า แล้วที่ระบุว่า จะดูดซับนํ้ามันปาล์มดิบจากตลาดเพื่อช่วยเกษตรกร มีแต่สต๊อกจะเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มีนโยบายออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นที่มาของคำถามว่า นโยบายที่ กฟผ.กำลังรับซื้อปาล์มนํ้ามันดิบรอบนี้จากโรงสกัด โรงกลั่น ไบโอดีเซลในสต๊อกเหล่านี้ ถามว่าใครจะรวย ถ้ากฟผ.จะซื้อนํ้ามันปาล์มดิบไปเผาคนที่รวยมิใช่เกษตรกร

นายบากบั่น ยังชี้ด้วยว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสต๊อกที่มีอยู่เวลานี้รับซื้อปาล์มดิบมาจากเกษตรกรในราคา 1.90 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดที่ 2.20 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนของผู้ประกอบการเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 14-15 บาท ขณะที่ราคากลางที่ กฟผ.กำหนดอยู่ที่ 17.50 บาท จำนวน 1.33 แสนตัน มีส่วนต่างอยู่ที่ 2.5-3.5 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเงินรวมประมาณ 275-400 ล้านบาท

 

แกะรอยแก๊งสวา‘ปา(ล์)ม’  กฟผ.ซื้อเฉียด 2 พันล้าน

นอกจากนี้นายบากบั่น ได้เปิดแฟ้มรายชื่อผู้ที่ส่งนํ้ามันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบอยู่ในมือเกิน 1,000 ตัน อาทิ เจริญนํ้ามันปาล์ม, ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้, จิรัสย์ปาล์ม, .พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2, ศรีเจริญปาล์มออยล์, กลุ่มสมอทอง (สาขาท่าชนะ), กลุ่มสมอทอง (สาขาพนม), ยูนิวานิช นํ้ามันปาล์ม (มหาชน), ทองมงคลอุตสาหกรรม นํ้ามันปาล์ม, ทีพีพีกรีน คอมเพล็กซ์, ปาล์มนํ้ามันธรรมชาติ, ปาล์มทองคำ, มิตรเจริญปาล์มออยล์, ท่าชนะนํ้ามันปาล์ม และศรีเจริญปาล์มออยล์

 

กลุ่มเหล่านี้คือผู้ที่มีสต๊อกปาล์มตามที่กำหนดแล้วรอบนี้เสนอเข้ามา ก็จะเป็นคนที่มีสต๊อกนํ้ามันปาล์มเดิมที่จะได้ ปัญหาคือ แล้วเกษตรกรได้อะไรจากเรื่องนี้นายบากบั่น ระบุ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า รอบที่แล้วเสียค่าโง่ไปแล้ว โดย กฟผ. ขอเงินชดเชยจากกระทรวงการคลัง 1,227 ล้านบาท

สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ คือ ค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนในการผลิตจากนํ้ามันปาล์มสูงมาก โดยกระทรวงพลังงานมีมาตรการในการเพิ่มสัดส่วนของการใช้นํ้ามันไบโอดีเซล ให้เป็น B10 เพิ่มสัดส่วนการดูดปาล์มดิบออกจากสต๊อก เป้าหมาย 7 ล้านลิตรต่อวัน ดูดซับ CPO ได้ 2 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิต โดยมีมาตรการต่างๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 กำหนดให้ผู้ค้านํ้ามันต้องเพิ่มปริมาณการจ่ายนํ้ามันดีเซลหมุนเร็ว B10 ในสถานบริการ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 กำหนดให้เหลือเพียงไบโอดีเซล 100 เพียงชนิดเดียวเท่านั้น วันที่ 1 มกราคม 2563 กำหนดให้ทุกคลังของผู้ค้า นํ้ามันต้องมีการผลิต B10 และวันที่ 1 มีนาคม 2563 กำหนดให้นํ้ามันดีเซลหมุนเร็ว B10 จะมีจำหน่ายทุกสถานบริการ

เหล่านี้เป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ใช้เพื่อดูดซับปาล์มนํ้ามันออกไปผลิตนํ้ามันเหล่านี้แล้วถามว่าแล้ว กฟผ.จะไปซื้อจาก คลังสินค้า จากกลุ่มพ่อค้า ด้วยการเปิดเสนอราคาทำไม การซื้อนํ้ามันปาล์มดิบของกฟผ.ยังควรมีอยู่หรือไม่

และถ้าซื้อสิ่งสำคัญ คือ จะต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปให้ถึงมือเกษตรกร มิใช่เอาเงินงบประมาณแผ่นดินไปใส่ในมือขาใหญ่ในวงการผู้ค้านํ้ามันปาล์มโดยคนเหล่านั้นไม่ได้ซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรที่มีอยู่ประมาณ 400,000-500,000 ครัวเรือน ที่รอราคาปาล์มอยู่ กฟผ.ทำเช่นนี้ทำได้อย่างไรครับนายบากบั่น ตั้งคำถามทิ้งท้าย

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

แกะรอยแก๊งสวา‘ปา(ล์)ม’  กฟผ.ซื้อเฉียด 2 พันล้าน