เชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 39 เดือน

10 ต.ค. 2562 | 07:23 น.

ม.หอการค้าชี้ มาตรการรัฐไม่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัว ทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโคลดลงเป็นเดือนที่ 7 อยู่ที่ 72.2 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกันยายน 2572 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากระดับ 73.6มาอยู่ที่ระดับ 72.2 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการเมือง

ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเดือนสิงหาคม 2562 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ทั้งการโอนเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการประกันรายได้ มาตรการชิม ช้อป ใช้ และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารรัฐ แต่ในภาพรวมยังไม่สามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทุกภาคส่วนให้ปรับสูงขึ้นได้ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง และยางพาราที่มีราคาต่ำกว่า 40 บาทต่อกิโลกรัมอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ราคาอยู่ในกรอบ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม จึงเป็นแรงสำคัญทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจในต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

แต่ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงโดยเป็นการปรับตัวลดลงจากระดับ 84.4 มาอยู่ที่ระดับ82.9 สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคตภายใต้ไม่มีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศมาเป็นตัวฉุด

เชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 39 เดือน

ทั้งนี้หอการค้าไทยได้ประเมินผลจากการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลขณะนี้ มองว่ายังล่าช้าและยังไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควรประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จสหรัฐฯ อาจมีการปรับขึ้นภาษีกับประเทศจีนในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมนี้ การประกาศออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร(เบร็กซิท)แบบไม่มีเงื่อนไข และธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและมีผลโดยตรงกับการส่งออกของประเทศไทยอาจขยายตัวที่ติดลบ 2% ถึงติดลบ 3% และจีดีพีของประเทศอาจขยายตัวต่ำกว่า 3%  เหลือเพียง 2.6-2.8%  แต่หากรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ยืดเยื้อ และเบร็กซิทไม่กระทบมากจนเกินไปคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส4 จะมีโอกาสเติบโตที่3%

 

 “ทั้งนี้ในไตรมาส4 หากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมากขึ้นจะทำให้ประชาชนมีกำลังใช้จ่ายและมาตรการชอปชิมใช้ที่ผ่านมาไม่ได้ลงไปในต่างจังหวัดท่องเที่ยวมาก ดังนั้นควรมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในชุมชน”