อาหารสัตว์เลี้ยงโวย BOI เมินส่งเสริมลงทุน

11 ต.ค. 2562 | 06:20 น.

 

เอกชนโวยบีโอไอเมินส่งเสริมลงทุนอาหารสัตว์เลี้ยง ยันเป็นอุตสาหกรรมมีอนาคต ตลาดใน-นอกโตเกือบ 6 หมื่นล้าน ลั่นถ้าได้ส่งเสริมดันไทยผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 อาหารหมา-แมวโลกได้ใน 5 ปี สภาอุตฯจี้รัฐเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ลดพึ่งส่งออกเหลือ 50% ต่อจีดีพี ลดเสี่ยงฉุด ศก.ระยะยาว

ในการประชุมคณะทำงาน war room ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ได้ข้อสรุปใน 4 เรื่องหลักที่จะนำเสนอต่อคณะทำงาน กรอ.พาณิชย์ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเพื่อผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป ได้แก่

1.การเตรียมรับมือการเบี่ยงเบนทางการค้า จากสงครามการค้าจะทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยส่งออกที่ต้องเฝ้าระวัง 2.การรับมือการส่งออกที่หดตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า 3.การเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) เฉพาะอย่างยิ่งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียนบวก 6) ที่ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 และการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ที่คาดหมายว่าจะเจรจาเสร็จสิ้นใน 1-2 ปี และ 4.ประเด็นเรื่องการลงทุน ที่มีปมประเด็นเกิดขึ้นในครั้งนี้

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมครั้งนี้ตนได้ตั้งคำถามและฝากเรื่องผ่านรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอให้นำเรื่องกลับพิจารณาในการให้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย จากที่ผ่านมาบีโอไอไม่ให้การส่งเสริม โดยมองอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมโลว์เทค (ล้าสมัย) ไม่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ที่รัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นพิเศษ และมุ่งเน้นให้ไปลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

อาหารสัตว์เลี้ยงโวย BOI เมินส่งเสริมลงทุน

                                         ชนินทร์  ชลิศราพงศ์

“อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีอาหารสุนัขและแมวเป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ ณ ปัจจุบันเราได้พัฒนามาตามลำดับอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมไม่ตํ่ากว่า 10% ต่อปี และส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่อีอีซีเพราะส่วนใหญ่ขยายต่อเนื่องจากโรงงานปลาทูน่า ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดเกือบ 6 หมื่นล้านบาท (5.72 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 4.26 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 1.46 หมื่นล้านบาท)โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 4 ของโลก ค่ายใหญ่ที่ลงทุนด้านนี้ เช่น ไทยยูเนี่ยน ซีแวลู และซีพี แต่ละโรงลงทุนระดับพันล้าน แต่ไปขอบีโอไอเขาไม่ให้ ระบุเป็นอุตสาหกรรมโลว์เทค”

ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิต ใช้แรงงานคนบางส่วน มีการทำอาร์แอนด์ดี ในการคิดค้นสูตรอาหาร อีกทั้งได้นำวัตถุดิบต่าง ๆ จากเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องในไก่ เครื่องในหมู ปลาทูน่า ผัก ส่วนผสมและเครื่องปรุงรสต่างๆ มาพัฒนาเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งหากบีโอไอให้การส่งเสริมมั่นใจว่า 5 ปีจากนี้ไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัข-แมวอันดับ 1 หรือ 2 ของโลกได้ อย่างไรก็ดีในครั้งนี้บีโอไอได้รับเรื่องจะกลับไปพิจารณาใหม่

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม war room กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ จากปัจจุบันพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นรายได้หลักสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี และพึ่งพาการบริโภคจากตลาดภายใน 30% ซึ่งการพึ่งพาการส่งออกมาก เมื่อมีปัจจัยจากภายนอกที่เหนือการควบคุมมากระทบทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาชะลอตัว ดังนั้นหากจะให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งในระยะยาวต้องเร่งปรับสัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่โดยพึ่งพาส่งออกและตลาดภายใน 50 : 50 เครื่องมือ เช่น ออกแคมเปญให้คนไทยและส่วนราชการไทยใช้สินค้าเมด อิน ไทยแลนด์เป็นหลัก กระตุ้นการท่องเที่ยว เร่งโครงการอีอีซี เป็นต้น 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

อาหารสัตว์เลี้ยงโวย BOI เมินส่งเสริมลงทุน