ปูพรมโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง

09 ต.ค. 2562 | 10:55 น.

“สนธิรัตน์”เปิดรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าชุมชน ชู 7 โมเดล คลอบคลุมพลังงานหมุนเวียน ทั้งก๊าซชีวภาพ ชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และไฮบริด เผยเฟสแรกปี 2563 ปู พม 250 แห่ง ให้ชุมชนถือหุ้น 10-30 %

นายสนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์  รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีผู้เข้าร่วมฟังจากทุกภาคส่วนกว่า 200 รายว่า  ได้เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อเสนอแนะไปสรุปแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจนออกมาภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศนโยบาย เพื่อกำหนดความชัดเจนว่าจะใช้โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบใด คาดว่าระยะแรก (เฟสแรก) จะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณ 250 แห่ง และจำนวนนี้จะมีโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบเร่งด่วน (ควิก วิน)  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เคยดำเนินการมาแล้ว แต่ยังติดปัญหา เกิดขึ้นก่อน10-20 แห่งภายในกลางปี 2563

ปูพรมโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง

“การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกรอบดังกล่าวจะนำเสนอสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563”

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่พพ.นำเสนอจะมี 7 รูปแบบหลักได้แก่  โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน )  ,โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์ , โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล  ,  โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์  , โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ,โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์  และโรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ โดยรูปแบบนี้เป็นเพียงข้อเสนอที่อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้อีก

ทั้งนี้ จากที่ระดมความเห็นครั้งนี้สิ่งสำคัญ เอกชนและภาคประชาสังคมต่างเห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการนี้โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมการเป็นเจ้าของ และสร้างรายได้จากการขายเชื้อเพลิงที่มาจากการปลูกพืชพลังงาน เช่น ไม่โตเร็ว หญ้าเนเปียร์ หรือจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ซังข้าวโพด ฟางข้าว เป็นต้น  โดยสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นของวิสาหกิจชุมชนในโรงไฟฟ้าจะอยู่ประมาณ 10-30%

ปูพรมโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง
สำหรับข้อเสนอที่หยิบยกมาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับส่วนแบ่งรายได้ที่จะนำคืนสู่ชุมชนจากโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุน ที่สามารถนำเงินไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำมาลดค่าไฟฟ้าให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า นั้นจะมีอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย คแต่งต้องระดมสมองในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบเอฟไอที ยืนยันหลักการว่า จะต้องไม่กระทบค่าไฟประชาชนในภาพรวม ส่วนการเป็นห่วงเรื่องเงินกู ที่เอกชนจะไปกู้กับสถาบันการเงินนั้น คงจะต้องนำเสนอให้สถาบันการเงินของภาครัฐเข้ามาร่วมพัฒนาก่อน

ทั้งนี้ กรอบนโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน

ปูพรมโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง

 

โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เอกชนและชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งได้กำหนดประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่มาจาก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานผสมผสาน  ด้วยขนาดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 

โดยมีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และที่สำคัญราคาซื้อขายไฟฟ้าต้องกระทบกับค่าไฟฟ้าให้น้อยที่สุด ที่มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนร้อยละ 30 ให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580  หรือแผนPDP 2018 เป็นการกระจายเชื้อเพลิงให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของไทย