หนุนแบงก์ช่วยลูกหนี้ SMEs

09 ต.ค. 2562 | 08:43 น.

ธปท. ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทั้งจากเรื่องสงครามการค้าโลก และภาวะภัยธรรมชาติในประเทศส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ธปท. จึงสื่อสารไปยังสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ ให้ช่วยลูกหนี้แก้ไขปัญหาหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบและยังมีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และธปท.ยังออกหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9(IFRS9)ที่จะเริ่มใช้ 1 มกราคม 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับการจัดชั้นลูกหนี้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มีแนวโน้มเครดิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs สามารถขอสินเชื่อใหม่ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

หนุนแบงก์ช่วยลูกหนี้ SMEs

ทั้งนี้ ตามมาตรฐาน IFRS9 จะแบ่งการจัดชั้นลูกหนี้แบบใหม่เป็น 3 ระดับชั้นคือ Stage1 กลุ่มที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิต, Stage2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Stage 3 กลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ธปท. จึงสื่อสารไปว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL : ไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหา (Troubled debt restructuring: TDR) และไม่ต้องรายงานเครดิตบูโร โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน stage 2 หากลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ให้ปรับขึ้นเป็น stage 1 ได้

หนุนแบงก์ช่วยลูกหนี้ SMEs

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็น NPL หากสถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถเลื่อนชั้นลูกหนี้จาก stage 3 เป็น stage 2 ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ตามเงื่อนไขใหม่ได้ และหลังจากนั้น หากพิจารณาว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินสามารถพิจารณาลูกหนี้ขึ้นเป็น stage 1 โดยไม่ต้องรอครบ 9 เดือนตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด และหากสถาบันการเงินเห็นว่า การให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ลูกหนี้ NPL เพิ่มเติมจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ให้พิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้

ทั้งนี้ การซักซ้อมความเข้าใจในแนวปฏิบัติข้างต้นจะมีผลดีต่อ SMEs คือ ช่วยให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ช่วยรองรับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และช่วยให้ลูกหนี้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจอย่างทันท่วงที

หนุนแบงก์ช่วยลูกหนี้ SMEs