แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องฟังประชามติประชาชน

10 ต.ค. 2562 | 06:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3512 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค.2562 โดย... ประพันธุ์ คูณมี 


แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
ต้องฟังประชามติประชาชน 


          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสาระสำคัญที่กำหนดโครงสร้างของรัฐประเทศ กำหนดขอบเขตอำนาจรัฐ สิทธิเสรีภาพ หน้าที่พลเมือง หน้าที่รัฐบาลผู้ปกครองประเทศ มีการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายต่างๆ ในการบริหารและปกครองประเทศ เช่น อำนาจฝ่ายบริหาร, อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ไว้โดยกฎหมาย
          นอกจากนี้ยังมีกลไกการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน มีบทบัญญัติเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ ดังจะเห็นได้ตามรัฐธรรมนูญยุคใหม่ของไทยที่ได้มีวิวัฒนาการทางการเมืองมาถึงยุคปัจจุบัน โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการแบ่งหมวดหมู่ที่สำคัญๆ ดังนี้
          หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และก็มีมาตราอื่นอีกจนถึงมาตรา 5
          หมวด 2 พระมหากษัตริย์ 
          หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
          หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
          หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
          หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ
          หมวด 7 รัฐสภา
          หมวด 8 คณะรัฐมนตรี
          หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์
          หมวด 10 ศาล (ศาลยุติธรรม,ศาลปกครอง,ศาลทหาร)
          หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ

          หมวด 12 องค์กรอิสระ (คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ,คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ )
          หมวด 13 องค์กรอัยการ
          หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น
          หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
          หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
          สุดท้ายคือ บทเฉพาะกาล มาตรา 262-279 ซึ่งสรุปแล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ มีทั้งสิ้น 279 มาตรา
          รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ใช้เวลาร่างร่วม 3 ปี ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ภายหลังการลงประชามติให้ความเห็นชอบจากประชาชนทั่วประเทศ 16.8 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10.5 ล้านคน ที่ฝ่ายค้านและพวกที่แพ้การลงประชามติบอกว่า “เฮงซวยทั้งฉบับ” นั้น พวกเขาต้องการรื้อล้างแก้ไขทั้งฉบับทุกมาตรา ตั้งแต่หมวด 1 จนถึงหมวดสุดท้าย แม้กระทั่งประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรก็จะให้แบ่งแยกเป็นรัฐอิสระหลายรัฐได้
          หมวดพระมหากษัตริย์พวกเขาก็จะไม่เว้นที่จะแก้ไข คำถามคือพี่น้องประชาชนไทยทั้งประเทศ จะเห็นด้วยและเอากับพวกเขาหรือไม่ จะยอมให้มีการปู้ยี้ปู้ยำกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่มาจากการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ ตามอำเภอใจพวกเขาหรือไม่ จึงเป็นคำถามที่ท้าทายประชาชน
          ความจริงแล้ว นับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญของไทย ก็ได้มีการแก้ไขและวิวัฒนาการมาโดยลำดับ มีการยกเลิก ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาเป็นระยะๆ ซึ่งพอจะจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ 1.เกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติหรือรัฐประหาร 2.เกิดขึ้นโดยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทยเกิดขึ้นโดยการต่อสู้เรียกร้องของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
          จึงอยากให้ข้อสังเกตและข้อเตือนสติฝ่ายค้านว่า แนวทางการรณรงค์ของฝ่ายค้านที่กำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องนี้ นอกจากจะล้มเหลวแล้วอาจติดคุกได้ด้วย เพราะขบวนการเคลื่อนไหวและนำเสนอเรื่องนี้ มีลักษณะสุ่มเสี่ยง ท้าทาย ไร้แนวร่วมและการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากภาคประชาชน และบางข้อเสนอก็เป็นการเข้าข่ายเป็นความผิดในทางอาญาอีกด้วย เพราะพวกอยากแก้รัฐธรรมนูญบางคนมีแนวคิดแบ่งแยกรัฐไทย บางคนก็ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ปะปนอยู่ด้วย ประชาชนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเข้าร่วม

          การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ถ้าหากมีเหตุผลและความชอบธรรม และด้วยความสามัคคีเห็นพ้องต้องกันของประชาชนทุกหมู่ทุกฝ่าย ประเทศ ไทยเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มิใช่เกิดจากการรัฐประหารมาแล้ว แต่เกิดขึ้นจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 และ 2540 โดยรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นผลิตผลจากการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีประชาชนเข้าร่วมเรือนแสนเรือนล้านทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวสงบลง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นจึงได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตามข้อเรียกร้องของประชาชน โดยมี นายประกอบ หุตะสิงห์ อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่ง
          ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน ในเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 ที่เริ่มจากการอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนพัฒนามาสู่การเรียกร้องโดยภาคประชาชน ในที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงได้ยินยอมให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจำนวน 99 คน รัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงมีความเป็นประชาธิปไตยและเกิดขึ้นจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน จึงถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน”
          จากที่กล่าวมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้นสามารถกระทำได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้องรับฟังประชามติของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแต่ต้น มิใช่เริ่มต้นจากอคติและความเคียดแค้นของฝ่ายค้าน จึงจะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากประชาชน
          การที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านได้พยายามทำตัวเป็นเจ้าภาพ เป็นหัวหอกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพียงเพราะรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้พวกตนเสียประโยชน์ สูญอำนาจทางการเมือง จึงใช้ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมาปลุกระดมมวลชน เปิดเผยธาตุแท้จุดยืนของตนว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ล้มรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ ล้มเผด็จการไม่ได้นั้น เป็นการไม่เห็นหัวประชาชนเจ้าของประเทศ และมิได้เกิดขึ้นจากความริเริ่มของประชาชน จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะประชาชนไม่อาจไว้วางใจ ไม่เชื่อถือพรรคฝ่ายค้าน ว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อใคร เหตุเพราะกลุ่มฝ่ายค้านเคยทำให้บ้านเมืองเสียหายมาแล้วนั่นเอง
          หากสุจริตจริงใจและต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรต้องฟังประชามติประชาชน