“ยูเออี”บูมเกษตรกลางทะเลทราย จับตาผลกระทบไทย?

09 ต.ค. 2562 | 05:21 น.

“ยูเออี”บูมเกษตรกลางทะเลทราย จับตาผลกระทบไทย?

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates : UAE) ต้องการลดการพึ่งพิงอาหารจากต่างประเทศ เพราะแต่ละปีต้องนำเข้าอาหารจากทั่วโลกมากกว่า 80% ของการมูลค่านำเข้าทั้งหมด โดยเฉพาะผักและผลไม้

 

 ปี 2561 ยูเออี นำเข้าผัก 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย จีน ยุโรป และตะวันออกกลาง สำหรับอาเซียนนำเข้ามากสุดมาจากเมียนมาสัดส่วน 2% มาเลเซียสัดส่วน 1% และไทยสัดส่วน 0.6%

 

รัฐบาลยูเออีจึงได้มีนโยบายและผลักดันการเกษตรแบบ “High-Tech and Low Water”  ที่ใช้นวัตกรรมและประหยัดน้ำ โดยมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ เช่น ในการผลิตหัวผักกาด (Lettuce) ใช้น้ำเพียง  20 ลิตร โดยปกติต้องใช้ถึง 400 ลิตร และที่สำคัญสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 80% รัฐบาลยูเออีได้ทำการส่งเสริมปลูกผักกลางทะเลทรายใน  3 รูปแบบคือ

 

1.ปลูกแบบไม่ใช้ดิน (Hydroponics หรือ Aeroponics) ในโรงเรือนที่ทำเป็นชั้นๆ 2.การปลูกบนดินในโรงเรือน และ3.ปลูกบนดินนอกโรงเรือน โดยลักษณะของการเกษตรกลางทะเลทรายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง 1.ทำให้ดินให้เกาะตัวกันและเก็บน้ำไว้ได้นาน เรียกระบบนี้ว่า “Liquid Nanoclay : LNC” คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวนอรเวย์ชื่อว่า “Kristian Morten Olesen” ต้นทุนในปรับดินแบบนี้ต้นทุนอยู่ระหว่าง 1,800 ถึง 9,500 ดอลล่าร์ต่อเฮกตาร์ (ที่มา : BBC News) ระบบนี้ทำให้ทรายร่วนกักเก็บน้ำได้ นวัตกรรมนี้จะทำให้สามารถนำดินทรายไปปลูกพืชได้ภายใน 7 ชม. จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี

“ยูเออี”บูมเกษตรกลางทะเลทราย จับตาผลกระทบไทย?

 

 

 2.แหล่งที่มาของน้ำใช้ในแปลงผักมาจาก 3 ส่วน น้ำใต้ดิน (Groundwater) 44% น้ำที่ถูกบำบัดนำมาใช้ใหม่ (Treated water) 15%  น้ำทะเลถูกนำมาให้ใหม่ (Desalinated) 41% (ที่มา : Aquastat, FAO 2005 และ export.gov, 2019) และมีการทำให้น้ำไหลผ่านแผ่นกระดาษคล้ายรังผึ้ง แล้วให้พัดลมดูดอากาศออก จะทำให้อากาศในโรงเรือนมีอุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกผัก

 

3.สวนเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นออร์แกนิค และปลอดสารพิษ กระทรวงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Climate Change and Environment) ได้ผลักดันจำนวนฟาร์มออร์แกนิคเพิ่มจาก 50 ฟาร์ม ในปี 2551 เป็น 1,000 ฟาร์มในปี 2560 ในพื้นที่ 46,900 เอเคอร์ (118,657 ไร่) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของอธิบดีกรมมาตรฐานและการวัด (Emirates Authority for Standardisation and Metrology :ESMA) H.E.Abdullah Al Maeeni

“ยูเออี”บูมเกษตรกลางทะเลทราย จับตาผลกระทบไทย?

ที่บอกว่ายูเออีให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิคเพิ่มขึ้นมาก จำนวนฟาร์มออร์แกนิคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,240 ปี 2561 เป็น 2,356 หกเดือนแรกของปี 2562  จำนวน 1 ล้านตารางเมตร สามารถผลิตผักได้ 1,116 ชนิด มีเป้าหมายเพื่อทดแทนการนำเข้าให้ได้ 40%  และรัฐบาลยังใส่เงินทำวิจัยเรื่องน้ำและอาหาร 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี สำหรับต้นทุนในการทำฟาร์มแบบโรงเรือนทั้งหมดเท่ากับ 250,000 AED (2 ล้านบาท) เฉพาะโรงเรือนมีต้นทุนการก่อสร้าง 2.5 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท

 

บริษัทใหญ่ที่ทำ Hydroponics คือ “Emirates Hydroponics Farms : EHF” ตั้งเมื่อปี 2548 เนื้อที่ 1,000 ตรม. บริเวณระหว่างอาบูดาบีกับดูไบ รูปแบบเป็นโรงเรือน เจ้าของเป็นนักธุรกิจออสเตรเลีย (เกษตรแบบปกติ1 ปี ปลูกได้ 5 ครั้ง แต่ EHF ทำได้ 18 ครั้ง)  บริษัท “Salazar Farms” ตั้งเมื่อ 2560 ร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจอังกฤษกับยูเออีตั้งในรัฐ Ras Al Khaimah อยู่ทางตอนเหนือของยูเออีห่างจากดูไบ 112 กม. บริษัท “Pegasus Agritech” ในดูไบ ทำการเกษตรในทะเลทรายของตะวันออกกลางและให้คำปรึกษาอีกด้วย  บริษัท “Ripe Organic  Farm Shop” ในดูไบ ตั้งเมื่อปี 2011 ขายสินค้าออแกนิคทั้งหมดผ่านทรงออนไลน์ และ ออฟไลน์ เขาเรียกว่า “Ripe Market” คือให้เกษตรกรมาซื้อขายกันที่นี่ 

 

“ยูเออี”บูมเกษตรกลางทะเลทราย จับตาผลกระทบไทย?

4.ธุรกิจเกษตรท่องเที่ยว นอกจากจะปลูกผักแล้ว บริษัทเกษตรเหล่านี้ยังเปิดให้แหล่งท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ค่าตั๋วเข้าคนละ $35 5.ขายตรงให้กับห้างสรรพสินค้า และขายออนไลน์  ส่วนใหญ่ธุรกิจเกษตรเหล่านี้มีสวนเกษตรเป็นของตนเอง แล้วขายตรงกับลูกค้า ไม่มีพ่อค้าคนกลาง 6.ไฟฟ้าที่มาใช้ในโรงเรือนเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นการลดต้นทุน ทุกสวนเกษตร จึงใช้ไฟฟ้ามาจากแผงโซล่าเซลล์ 7.ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ นอกจากผักแล้ว ขณะนี้ยูเออีกับจีนร่วมมือในปลูกข้าวในน้ำทะเลได้ผลผลิต 500 กิโลกรัมต่อ มู หรือ มากกว่า 1 ตันต่อไร่ (1 มูเท่ากับ 0.4 ไร่

 

8.การบริหารน้ำในยูเออี น้ำเป็นเรื่องใหญ่ของยูเออี เพราะฝนตกปีละ 10 วัน น้ำที่มีอยู่ทั้งบนดินและใต้ดินก็เป็นน้ำเค็ม ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี ยูเออีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้น้ำมากของโลก เฉลี่ยวันละ 500 ลิตรต่อครัวเรือนต่อวัน (ค่าเฉลี่ยโลก 300 ลิตรต่อครัวเรือนต่อวัน)  การบริหารจัดการน้ำจึงมีความสำคัญมาก ภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วน 1% ของ GDP แต่ใช้น้ำมากถึง 60% บริโภค 30% ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรม

 

รัฐบาลยูเออีให้ความสำคัญกับการทำระบบชลประทานเพื่อการเกษตร รัฐบาลจึงได้สนับสนุนวางสายหรือท่อ ให้กู้ยืม และให้ความรู้การประหยัดน้ำและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ระบบแบบสปริงเกอร์ (Sprinkle) และน้ำหยด (Drip) สำหรับค่าน้ำรัฐบาลเก็บตามกลุ่มที่ใช้น้ำตามประเภทที่อยู่อาศัย และตามประเภทของคน คือคนท้องถิ่น (Emirati) เก็บระหว่าง 2.09 - 7.5 Dirham กับไม่ใช่ท้องถิ่น (Expats) เก็บระหว่าง 7.8-30.5 Dirham ขึ้นกับปริมาณการใช้น้ำ ส่วนภาคเกษตร 3-4.5 Dirham ซึ่งเริ่มเก็บจาก 1,000 ลิตรเป็นต้นไป   ต้องดูกันต่อไปว่า “การเร่งการผลิตผักกลางทะเลทรายจะส่งผลกระทบการส่งออกผักของไทยและอาเซียนหรือไม่ครับ”