หวั่นมาตรฐานบัญชีใหม่เขย่าหนี้จัดชั้น4แสนล้าน

12 ต.ค. 2562 | 08:50 น.

แบงก์ห่วงมาตรฐานบัญชี TFRS9 ทำหนี้ปกติไหลเป็น SM เพิ่ม ดันตั้งสำรองพุ่ง หลังบังคับใช้ 1 ..63 ธปท.ยันไม่กระทบธุรกิจทีเอ็มบีชี้สินเชื่อรายย่อย-เอสเอ็มอีกระทบก่อนเพื่อน เหตุมี SM เยอะสุดรวมกว่า 3 แสนล้านบาทกสิกรไทยลั่น หันปล่อยกู้วิธีใหม่ เจาะ Information Base Lending

มาตรฐานการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน(Thai Financial Reporting Standard: TFRS9)ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 หลังจากเลื่อนจากปี 2562 โดยหลักการสำคัญจะเกี่ยวข้องกับการกันสำรองจากแนวคิดเดิมที่คำนวณเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว(Incurred Loss) เปลี่ยนเป็นคำนวณจากความเสียหายที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (Expected Loss) โดยกำหนดให้กันสำรองให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ (Forward-looking Information) โดยพิจารณาถึงสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้ เพื่อรับรู้สำรองเร็วขึ้นตามสถานะลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป

นางสาวยุพิน เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายธุรกิจและบัญชีสถาบันการเงินฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ข้อมูลของต่างประเทศหลังจากใช้ IFRS9 
พบว่าไม่มีผลกระทบและเปลี่ยน แปลงโมเดลธุรกิจ ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองค่อนข้างสูงอยู่แล้วเฉลี่ยทั้งระบบอยู่ที่ 150% โดยที่ตั้งสำรองตํ่าสุดในระบบยังเฉลี่ย 110% และแม้ว่าการตั้งสำรองเผื่อไว้สูงอยู่แล้ว แต่ธนาคารสามารถสำรองเพิ่มขึ้นได้อีก เช่น หากในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีอาจมีผลกระทบต่อลูกค้าได้

หวั่นมาตรฐานบัญชีใหม่เขย่าหนี้จัดชั้น4แสนล้าน

การปล่อยสินเชื่อคงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างสินเชื่อบ้านคงปลอดภัยดี เพราะมีหลักประกัน แต่สินเชื่อธุรกิจ ธนาคารอาจต้องดูว่า ลูกค้าจะเอาไปทำธุรกิจอะไร มีกระแสเงินสดเท่าไร แต่จากสอบถามธนาคาร ส่วนใหญ่ไม่ได้ห่วงเรื่องปล่อยสินเชื่อ แต่ห่วงเรื่องการแข่งขันและส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)มากกว่า

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า หลัง TFRS9 บังคับใช้ จะเห็นการบริหารจัดการหนี้จับตาเป็นพิเศษ (SM) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เข้มงวดขึ้น โดยลูกหนี้ Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ SM จะเพิ่มขึ้นเร็ว แม้ว่าจะผิดนัดชำระแค่ 15 วันแต่ไม่ถึง 30 วัน จะตกจาก Stage 1 มาสู่ Stage 2 ทันที ทำให้ธนาคารมีภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้หากดูตัวเลข SM ไตรมาส 2 ทั้งระบบที่ 4.18 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับเอ็นพีแอลที่ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเดิม SM จะตั้งสำรองเพียง 2% ปัจจุบันต้องตั้งสำรองตลอดอายุและหากดูไส้ใน SM ที่มีจำนวนมากจะอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดยสินเชื่อรายย่อยมีSM 1.5 แสนล้านบาท ธุรกิจเอสเอ็มอี 1.62 แสนล้านบาทและสินเชื่อรายใหญ่ 1 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะกระทบมากกว่าสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่างสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อม โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ(Coverage Ratio) เฉลี่ยที่ 150% ถือว่าตั้งไว้ล่วงหน้ารองรับ TFRS9 เมื่อเทียบกับต้นปี 2561 ที่เฉลี่ย 120-130% ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งสำรองเกินไว้ก็จะไม่กระทบกับโมเดลธุรกิจ แต่จะกระทบกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) เพราะส่วนใหญ่จะทำสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นและอาจไม่เห็นการเติบโตมากแบบเลข 2 หลักเหมือนในอดีต

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า ผลกระทบ TFRS9 ต่อสถาบันการเงินมี 3 ด้านคือ การตั้งสำรอง โมเดลการขอสินเชื่อหรือปล่อยสินเชื่อ และโมเดลการติดตามหนี้ โดยการตั้งสำรองจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูความเสี่ยงตลอดอายุสัญญาและพิจารณาลูกค้ามีแนวโน้มเป็นหนี้เสียหรือไม่ ขณะที่โมเดลการประเมินความเสี่ยงยังเหมือนเดิมอยู่บนเครดิตและหลักประกันของลูกค้า

 

ทั้งนี้การปล่อยหรือขอสินเชื่อจะทำได้ยากขึ้น โดยจะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์มีวิธีการปล่อยสินเชื่อหรือโมเดลใหม่ๆ เช่นปล่อยสินเชื่อจากข้อมูล หรือ Information Base Lending ซึ่งวิเคราะห์ลูกค้าจากฐานข้อมูลอื่น เช่น พฤติกรรมการขึ้นสเตตัสในโซเชียล สิ่งแวดล้อมของผู้กู้  โดยจะเห็นว่าหลายธนาคารเริ่มทดลองทำการปล่อยสินเชื่อจากข้อมูลบ้างแล้วแต่ยังอยู่ในวงจำกัด ขณะที่โมเดลการติดตามหนี้ ธนาคารจะหันมาเน้นติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพและแอกทีฟมากยิ่งขึ้น เพื่อลดหนี้และส่วนหนึ่งเพื่อลดการตั้งสำรอง เนื่องจาก TFRS9 จะดูสินเชื่อตั้งแต่เริ่มปล่อย

อย่างไรก็ดีคาดว่า การตั้งสำรองจะยังอยู่ในระดับนี้ โดยอัตรา Coverage Ratio ไตรมาส 3 อยู่ที่ 143% ลดลงจาก 147.8% ในไตรมาส 2 ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง (Credit Cost) ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.02% ลดลงจาก 1.04% ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ช่วงภาวะเศรษฐกิจดีจะเห็น Credit Cost ลงมาอยู่ที่ 0.7-0.8% แต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจชะลอตัว จะเห็นตัวเลขมาอยู่ที่ 1.2% แม้ปัจจุบันจะเห็นว่าตํ่าแล้วแต่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับอดีต

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

                       หวั่นมาตรฐานบัญชีใหม่เขย่าหนี้จัดชั้น4แสนล้าน