อีไอซี เฉือนจีดีพีเหลือ 2.8%

08 ต.ค. 2562 | 12:35 น.

 

อีไอซี หั่นจีดีพีจาก 3% เหลือ 2.8% มองสงครามการค้ายังระอุ ฉุดการส่งออกติดลบ 2.5% กระทบภาคการจ้างงานอุตสาหกรรมติดลบ 3.7% ก่อนขยับเป็นบวก 0.2% ปี 63 ชี้ดุลบัญชีเดินสะพัดกดค่าเงินบาทแข็ง มองกรอบ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาหนี้ครัวเรือนพุ่งกดสินเชื่อคงทนหดตัว

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า อีไอซีปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3% โดยคาดว่า ไตรมาส 3 จะขยายตัว 3.3% และไตรมาส 4 ที่ 2.8% ส่งผลทั้งปีขยายตัวได้ตามกรอบ และคาดว่าปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.8% โดยจาก 3 ปัจจัยหลักคือ สงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า และการกลับทิศของวัฏจักรสินเชื่อ  

อีไอซี เฉือนจีดีพีเหลือ 2.8%

ยรรยง ไทยเจริญ

ทั้งนี้ ปัจจัยสงครามการค้าที่ยืดเยื้อเริ่มส่งผลกระทบภาคส่งออกของไทย สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกไทยที่ยังไม่ถึงจุดต่ำสุดและคาดว่าจะหดตัวลงอีก โดยการส่งออกในเดือนสิงหาคมติดลบ 10% และยังเริ่มกระทบไปยังเศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างงานไตรมาส 3 หดตัว 2.2% และการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวติดลบ 3.7% เป็นเรื่องที่จับตามองอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงประเมินการส่งออกปี 2562 ติดลบ 2.5% เนื่องจากสินค้าที่ได้รับผลกระทบกระจายตัวมากขึ้น โดยจะเห็นว่า สินค้า 75% ยังหดตัวอยู่และปี 2563 คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.2% แต่ขึ้นกับสงครามการค้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงขยายไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำอยู่

 

ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง หากดูย้อนหลัง 5 ปี จะเห็นว่า เงินบาทในปี 2557 เมื่อเทียบคู่ค้าคู่แข่ง แข็งค่า 24% แม้เทียบเงินดอลลาร์จะแข็งค่า 8% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่า 7.7% โดยกรอบประมาณการค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 6.4% และปี 2563 เกินดุล 6% ของจีดีพี ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินบาท เนื่องจากจะถูกมองเป็นหลุมหลบภัย(Safe Haven)และเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าและอ่อนค่ากส่าสกุลอื่น 

อีไอซี เฉือนจีดีพีเหลือ 2.8%

ส่วนปัจจัยการกลับทิศของวัฎจักรสินเชื่อเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัว 4-5 ปีก่อน ซึ่งสูงกว่ารายได้ แม้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตในสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน แต่หากหนี้ครัวเรือนเริ่มมีข้อจำกัดในการเร่งตัว ทำให้การเติบโตระยะยาวหดตัว โดยสินเชื่อสินค้าคงทนเริ่มชะลอตัว ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)พบว่า มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ทั้งระบบสูง 7.5% และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่หลักประกัน จึงต้องจับตาดู นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ไตรมาส 3 ออกมาติดลบและสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย(LTV)ที่คาดว่า ยอดขายปีนี้จะติดลบ 20% และมูลค่าการโอนติดลบ 14% และยังคงติดลบในปี 2563 โดยตลาดคอนโดมิเนียมหลังที่ 2 ติดลบ 48% ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานที่ยังดีและแข็งแรง โครงการลงทุนขนาดใหญ่เมกะโปรเจ็กต์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)ที่จะเห็นเม็ดเงินทยอยเข้ามาประมาณ 8% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นงบอุดหนุน 1 แสนล้านบาทและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)อีก 2 แสนล้านบาท โดยมาตรการชิ้ม ช้อป ใช้ คาดว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.03% ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.25% ถือว่าต่ำเป็นปนะวัติการณ์และมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกลับไปพิจารณาเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น 

อีไอซี เฉือนจีดีพีเหลือ 2.8%