ดิอาจิโอ ชูจุดแข็งองค์กรแห่งความเสมอภาคทางเพศ

08 ต.ค. 2562 | 09:35 น.

ดิอาจิโอ ขึ้นแท่นบริษัทฯ อันดับหนึ่งของโลกที่สนับสนุนและชูความเสมอภาคทางเพศ จากรายงานและการจัดอันดับโดย Equileap ประจำปี 2562 ซึ่งอันดับของดิอาจิโอได้ก้าวกระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 11 ในปีที่ผ่านมา และยังครองตำแหน่งบริษัทอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักรด้านความเสมอภาคทางเพศถึงสองปีซ้อน

ดิอาจิโอ ชูจุดแข็งองค์กรแห่งความเสมอภาคทางเพศ

รายงานของ Equileap ประจำปี 2562 ได้สำรวจและศึกษาบริษัทชั้นนำถึง 3,519 แห่งใน 23 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมจำนวนพนักงานกว่า 98 ล้านคน โดย Equileap ได้จัดอันดับบริษัทจากเกณฑ์มาตรฐานใน 19 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เช่น สัดส่วนการจ้างพนักงานชายหญิง ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง นโยบายการลาเพื่อครอบครัว รวมถึงโปรแกรมต่อต้านการละเมิดทางเพศในที่ทำงาน เป็นต้น

นายไอแวน เมเนเซส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิอาจิโอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสำเร็จขององค์กร คือการมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและยอมรับความแตกต่าง เป้าหมายของเราคือการสร้างสภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้พนักงานของเราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ตลอดจนช่วยกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่จะผลักดันให้เราเป็นผู้นำตลาด ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ยังพัฒนาได้อีก และเรามีความมุ่งมั่นที่จะปั้นให้ดิอาจิโอแข็งแกร่งขึ้นผ่านความหลากหลายทางเพศ และส่งต่อสิ่งที่ดีแก่สังคมต่อไป

ในปีนี้ ความมุ่งมั่นของดิอาจิโอยังสะท้อนผ่านการเป็นบริษัทชั้นนำที่มีการดำเนินงานด้านความหลากหลายและความมีส่วนร่วมอันดับที่ 2 ของโลกจากดัชนี Refinitiv (ชื่อเดิมคือดัชนีทอมสันรอยเตอร์) และยังได้รับการยอมรับจากดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก ปี 2562 (Bloomberg Gender Equality Index)

การจัดอันดับนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญของดิอาจิโอ ในการมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ โดยความสำเร็จอันโดดเด่นที่ผลักดันให้ดิอาจิโอเป็นผู้นำในด้านนี้คือ

ความสมดุลทางเพศในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ มีสัดส่วนเป็นผู้หญิงถึง 44% โดยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายให้มีพนักงานระดับอาวุโสในองค์กรเป็นผู้หญิงกว่า 40% ภายในปี 2568

นโยบายลาคลอดบุตรรูปแบบใหม่ทั่วโลก ที่ให้สิทธิ์ทั้งพ่อและแม่ทุกเพศลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ พร้อมรับเงินเดือนเต็ม โดยอนุญาตให้พนักงานชายใช้สิทธิ์ลาได้ขั้นต่ำ 4 อาทิตย์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ให้สิทธิ์พนักงานชายลาได้ 26 สัปดาห์เท่าเทียมกับพนักงานหญิงนั้น ประกอบด้วย ประเทศไทย สหราชอาณาจักร อเมริกาเหนือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สเปน เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี รัสเซีย โคลัมเบีย เวเนซุเอลา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคต

ดิอาจิโอ ชูจุดแข็งองค์กรแห่งความเสมอภาคทางเพศ
การที่ดิอาจิโอได้ลงนามหลักการ Women’s Empowerment Principles (WEPs) ของสหประชาชาติ ที่ยึดมั่นในหลักการ 7 ข้อที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสถานที่ทำงาน ตลาดแรงงานและชุมชน

สำหรับในประเทศไทย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT ได้ออกนโยบายที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานในองค์กร ด้วยการนำร่องเป็นบริษัทแรกๆ ที่ริเริ่มนโยบายให้สิทธิ์พนักงานทุกเพศ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ได้สิทธิ์ลาถึง 26 อาทิตย์เพื่อดูแลบุตรได้อย่างใกล้ชิดและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน และความเหมาะสมในงานเป็นสำคัญ

สุดา หวลกสินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

นางสุดา หวลกสินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงความสำเร็จของดิอาจิโอนี้ว่า ที่ DMHT ทุกคนภูมิใจที่องค์กรของเราเป็นผู้นำระดับโลกทางด้านความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลาย ซึ่งในประเทศไทย DMHT มีสัดส่วนการจ้างพนักงานชายและหญิงที่สมดุลคือ 48% และ 52% ตามลำดับ ตอกย้ำภารกิจหลักที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรเสมอ มุ่งที่จะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทุกคนประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหนก็ตาม

ดิอาจิโอ ชูจุดแข็งองค์กรแห่งความเสมอภาคทางเพศ