5ข้อดีคำนวณราคาน้ำตาลในประเทศแบบใหม่

08 ต.ค. 2562 | 08:37 น.

 

 

 

วงการน้ำตาลฟันธงมี 5 ข้อดี ที่เกิดจากการคำนวณราคาน้ำตาลในประเทศแบบ "Cost Plus"ทุกโรงงานต้องขายในราคาที่กอน.กำหนด

 

แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ.....ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 1 ตุลาคม 2562  โดยเห็นชอบแนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

 

 รวมทั้งเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้

 

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกล่าวว่า แนวทางในการจัดการราคาน้ำตาลในประเทศ เรียกว่า "Cost Plus" ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของอ้อยและน้ำตาล เกิดความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมีสมมติฐานและเงื่อนไขหลายอย่าง แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่จากเดิมใช้วิธีสำรวจราคาน้ำตาลในประเทศ โดยมีราคาต่างประเทศอ้างอิง แต่การคำนวนราคาน้ำตาลภายในประเทศของใหม่นี้ในแบบ Cost Plus นั้น จะต้องมาดูต้นทุนชาวไร่ ต้นทุนโรงงานน้ำตาล ต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งต้นทุนค่าบริหารจัดการที่ต้องนำมาเข้าสูตร Cost Plus ก็จะได้ราคาตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)กำหนด โดยจะแปรผันตามต้นทุนของแต่ละฝ่าย โดยนำราคาที่กอน.กำหนดมาเป็นราคาที่ใช้ในการคำนวนราคาอ้อยและราคาน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศ

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าการคำนวนราคาน้ำตาลในประเทศแบบ"Cost Plus" นั้น จะมีข้อดีหลักๆ 5 ด้านด้วยกันใล่ตั้งแต่ 1.โรงงานน้ำตาลจะไม่เกิดการแข่งขัน เพราะทุกโรงงานจะต้องขายในราคาที่กอน.กำหนดไว้ 2.ที่ผ่านมาไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าแต่ละโรงงานน้ำตาลขายเท่าไหร่ ต่อไปนี้ก็จะอยู่ที่ว่าค่ายไหนขายน้ำตาลในราคาเท่าไหร่ 3. ชาวไร่จะมีความมั่นคงและมีความมั่นใจในราคาที่ได้รับ 4.ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในแง่ความมั่นคงด้านราคา 5.โรงงานน้ำตาลมีการผลิตที่คุ้มต่อต้นทุน 

“ปัจจุบันราคาขายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานอยู่ที่ 17.25 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานอยู่ที่ 18.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกในตลาดมีตั้งแต่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม”