เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’ ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้

11 ต.ค. 2562 | 06:45 น.

 

         การขาดทุนของ “ไทยไลอ้อนแอร์” นับจากสยายปีกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 จนถึงปัจจุบันแบกขาดทุนสะสมไปกว่า 8,423 ล้านบาท ทั้งบริษัทยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบต่อเนื่องจากปี 2559 ติดลบ 1,958 ล้านบาท ปี 2561 ติดลบกว่า 7,985 ล้านบาท ส่งผลให้อัตรา ส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2561 อยู่ที่ 1.4 เท่า

 

บ.แม่ในอินโดนีเซียพร้อมอุ้ม

       นี่เองจึงทำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ได้สั่งให้สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ส่งแผนการเงินมาให้กพท.พิจารณาว่าแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้อย่างไร เนื่องจากวิตกว่าการขาดทุนต่อเนื่อง เกินทุนจดทะเบียน อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของสายการบิน และอาจเกิดการลอยแพผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้าไว้ค่อนข้างมาก หากต่อไปบริษัทแม่ คือ ไลอ้อนแอร์ อินโดนีเซีย ไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับไทยไลอ้อนแอร์ อีกต่อไป

       

เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’  ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้

       ต่อเรื่องนี้นายอัศวิน ยังกีรติว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้น ผมไม่วิตก เพราะเป็นเรื่องปกติในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการขาดทุนที่เกิดขึ้น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

       1. ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทซึ่งเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเน็ตเวิร์ก การขยายฝูงบิน ซึ่งปัจจุบันเรามีเครื่องบินให้บริการถึง 33 ลำ มีเส้นทางบินในประเทศ 12 เส้นทาง เส้นทางบินข้ามภูมิภาคในประเทศ 1 เส้นทางบิน และเส้นทางระหว่างประเทศมากกว่า 20 เส้นทางบิน

      2. ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน ส่วนเรื่องการแข่งขันผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการดำเนินธุรกิจ

เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’  ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้

รุกอู่ตะเภาเพิ่มฝูงบิน50ลำ

      “ไทยไลอ้อนแอร์ ยังมีบริษัทแม่ คือ ไลอ้อนแอร์ อินโดนีเซีย ที่มีความเข้มแข็งและพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของไทยไลอ้อนแอร์เป็นอย่างดี สายการบิน จึงมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอแน่นอน ส่วนแนวทางแก้ปัญหาการขาดทุน ไทยไลอ้อน แอร์ จะเน้นขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อขยายรายได้เพิ่มขึ้นอัศวิน ยังกีรติวร กล่าวยํ้า

       ดังนั้นล่าสุดไทยไลอ้อน แอร์ จึงมีแผนจะใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางการบินทั้งเส้นทางบินระยะใกล้และระยะไกล ในปี 2563 โดยมีแผนขยายเส้นทางบินสู่จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และข้ามภูมิภาคในอนาคต เนื่องจากเห็นศักยภาพของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเอื้อต่อการเป็นเมืองการบินจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น

       ทั้งสายการบิน ยังมีแผนที่จะขยายฝูงบินเพิ่มอีก 50 ลำภายใน 5 ปีนี้ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายของไทยไลอ้อนแอร์ อย่างต่อเนื่อง เพราะเราเห็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่เติบโตต่อเนื่องนั่นเอง


 

 

ต่อจิ๊กซอว์ให้ไลอ้อนกรุ๊ป

       หากถามว่าทำไมไทยไลอ้อน แอร์ ขาดทุนขนาดนี้ ยังอยู่ได้สบายๆ แถมขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้ งานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ารุสดี คีรานาเจ้าของไลอ้อนแอร์  อินโดนีเซีย ผู้ถือหุ้นของไทยไลอ้อนแอร์ ทุ่มเต็มที่สำหรับการสนับสนุนทางการเงิน แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่ได้มีการเพิ่มทุนในไทยไลอ้อนแอร์ แต่นำไปบันทึกเป็นหนี้สินก็ตาม แต่ด้วยแรงกดดันจากกพท.ที่เกิดขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ อาจจะนำไปสู่การเพิ่มทุนในอนาคต

 

เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’  ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้

 

การที่ไลอ้อนแอร์ ยอมควักเนื้อโดยอุ้มไทยไลอ้อนแอร์ บอกได้เลยว่าเป็นการลงทุนเชิง กลยุทธ์ในการต่อจิ๊กซอว์ให้กับธุรกิจในเครือไลอ้อนแอร์ เพราะวันนี้ไลอ้อนแอร์ จัดว่าเป็นสายการบินเอกชน ครองส่วนแบ่งตลาด 50% ของเส้นทางบินในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดสายการบินภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยัง มีสายการบินในเครืออีกหลายสายในอินโดนีเซีย ทั้งวิงส์ แอร์(บินในอินโดนีเซียด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก), บาติกแอร์ (พรีเมียม แอร์ไลน์ในอินโดนีเซีย), มาลินโด แอร์ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์ในมาเลเซีย) และไทย

       ไลอ้อนแอร์ ที่เกิดจากการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นฮับบินใหม่ของไลอ้อนแอร์ กรุ๊ป ซึ่งแม้การจัดตั้งไทยไลอ้อนแอร์ จะตามหลัง ไทยแอร์เอเชีย แต่เพียงไม่กี่ปี ไทยไลอ้อนแอร์ ก็ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ในธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของไทยไปครอง และกำลังพยายามที่จะตีตื้นขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’  ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้

ขยายธุรกิจรอโอกาส

       อีกทั้งไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเรื่องการท่องเที่ยว ไม่แปลกที่ไลอ้อนแอร์ ยังต้องการขยายสมรภูมิน่านฟ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไลอ้อนแอร์ มีเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการรับมอบอีกร่วม 500 ลำ ดังนั้นนอกจากการนำมาขยายธุรกิจในอินโดนีเซียแล้ว จุดโฟกัสก็คงหนีไม่พ้นประเทศไทยที่ลงทุนมาพักใหญ่แล้ว แม้จะยังขาดทุน แต่ไลอ้อนแอร์ ก็มองเห็นถึงอนาคต ถึงการเติบโตต่อเนื่องของการท่องเที่ยวไทย

ที่ผ่านมาไทยไลอ้อนแอร์ อาจจะมุ่งไปที่จุดบินภายใน ประเทศ แต่จะเห็นว่าในช่วงหลังๆ มานี้ สายการบินโฟกัส การขยายจุดบินไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารต่างชาติเพิ่มขึ้น

      อีกทั้งท่ามกลางการแข่ง ขันในธุรกิจการบินของไทยที่ รุนแรงเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากใครล้มไป หรือปิดเที่ยวบินไหนไป เมื่อถึงวันนั้นตลาดการบิน ก็จะไม่ใช่ตลาดสำหรับผู้บริโภคอีกต่อไป แต่จะเป็นโอกาสในการปรับราคาของสายการบินที่ยังเหลืออยู่

    แน่นอนว่าไทยไลอ้อนแอร์ รอได้อยู่แล้ว ทั้งโพรไฟล์ของรุสดี คีรานานายทุนใหญ่ของไลอ้อนแอร์ ก็ไม่ธรรมดา เพราะติดอันดับ 37 เศรษฐีอินโดนีเซีย(จากการจัดอันดับของฟอร์บส์เมื่อปี 2561) มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันไลอ้อนแอร์ ก็เป็นสายการบินเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียอีกด้วย

 

รายงานโดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

เปิดปูม ‘ไทยไลอ้อนแอร์’  ขาดทุนบักโกรกแต่ทำไมอยู่ได้