การฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีเจ้าหน้าที่ ให้คำแนะนำไม่ถูกต้อง

15 ต.ค. 2562 | 03:15 น.

คอลัมน์ อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

 

เวลาที่ประชาชนจะดำเนินการเรื่องใดๆ กับทางราชการ หากไม่รู้ข้อมูลหรือไม่ทราบขั้นตอน ก็มักจะต้องสอบถาม เจ้าหน้าที่เพื่อขอรับคำแนะนำในการดำเนินการให้ถูกต้อง

การขอรับคำแนะนำดังกล่าว บางครั้งก็เกิดปัญหาได้เช่นกันนะครับ เช่นในคดีนี้...

ที่ประชาชนรายหนึ่งได้เข้าไปติดต่อราชการกับหน่วยงานราชการ เพื่อขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการขายที่ดิน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำและประชาชนได้ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว

ต่อมาพบว่าเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ตนได้รับความเสียหาย จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจคือ... การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำดังกล่าว มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นหรือไม่? และข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่?

วันนี้นายปกครองมีคำตอบ ครับ...


 

 

มูลเหตุของคดีเกิดจาก ผู้ฟ้องคดีได้เข้าไปขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเกี่ยวกับการขายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของตน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดียังไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากต้องรอให้พ้นกำหนดห้ามโอน 10 ปีก่อน

ต่อมาเมื่อครบกำหนด 10 ปีแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้มาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดอีกครั้งซึ่งเป็นคนละคนกัน และได้รับคำแนะนำว่า การขายที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้นต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังกรมที่ดินก่อน

จึงเกิดปัญหาว่า...คำแนะ นำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ตรงกับคำแนะนำเดิมของเจ้าหน้าที่คนก่อนที่เคยแจ้งไว้กับผู้ฟ้องคดี คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่คนแรกจึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่ต้องรอเวลาถึง 10 ปี และไม่สามารถขายที่ดินแก่บุคคลที่มายื่นคำเสนอขอซื้อที่ดินของผู้ฟ้องคดีในราคา 21,000,000 บาท ในช่วงเวลานั้นได้ จึงยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดตน

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีให้คำแนะนำผู้ฟ้องคดีที่ไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย แต่การให้คำแนะนำดังกล่าวเป็นเพียงการให้ความเห็น ซึ่งความเห็นของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่มีลักษณะของการบังคับให้ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติตาม จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต่างจากการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายและเกิดผลทางกฎหมาย

 

การฟ้องเรียกค่าเสียหาย  กรณีเจ้าหน้าที่  ให้คำแนะนำไม่ถูกต้อง

 

คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2542 ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 66/2562)

เห็นได้ว่า... คดีนี้มิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง เนื่องจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยล่าช้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การให้คำแนะนำเป็นเพียงการให้ความเห็นซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายและไม่มีสภาพบังคับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการให้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่จะไม่มีผลเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับกับประชาชนผู้รับคำแนะนำก็ตาม แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีหน้าที่จะต้องให้บริการประชาชนและให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร เพราะประชาชนคาดหวังและเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการให้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕ และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

 

การฟ้องเรียกค่าเสียหาย  กรณีเจ้าหน้าที่  ให้คำแนะนำไม่ถูกต้อง