ยืดเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม 180 วัน

07 ต.ค. 2562 | 06:58 น.

 

ก.พลังงานแจงขั้นตอนวางเงินประกันรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม "บงกช-เอราวัณ" ระบุพิจารณาแผนใหม่ 6 เดือน กลาง มี.ค.63 รู้ผล

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม  กล่าวว่า ขั้นตอนวางเงินประกันรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม "บงกช-เอราวัณ" เป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559  ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเมื่อนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานแหล่ง "เอราวัณ-บงกช" ให้วางหลักประกันการรื้อถอนเต็มจำนวนไปแล้ว แต่ทางผู้ได้รับสัมปทานไม่เห็นด้วย ก็สามารถทำข้อมูลแย้งมาได้ ทางกรมเชื้อเพลิงฯ จะใช้เวลาพิจารณา 180 วัน ซึ่งทาง "เชฟรอน, กลุ่มโมเอโกะ, โททาล" ได้ทำหนังสือถึงกระทรวง เมื่อกลางเดือนกันยายน 2562 จะครบเวลาพิจารณาข้อมูลทั้งหมดกลางเดือนมีนาคม 2563  

หลังจากนั้นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ จะทำหนังสืออีกครั้งถึงผู้ได้รับสัมปทานให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนภายใน 120 วัน  ซึ่งขั้นตอนนั้นหากตกลงกันไม่ได้  จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องก็อาจจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเชื่อว่าในการพิจารณาข้อมูลรอบใหม่จะสามารถตกลงเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยภาครัฐพร้อมรับฟังข้อมูลบนพื้นฐานหลักการของกฎหมายที่ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมบนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม หลังหมดสัญญากับภาครัฐ ส่วนวงเงินค้ำประกันจะมากหรือน้อยหรือเท่าเดิม ที่กว่าแสนล้านบาทหรือไม่ ก็ต้องมาคุยกันในรายละเอียด โดยทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าการดำเนินการจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ให้รายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการ หลังหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทาน "เอราวัณ-บงกช"ไป เมื่อ 13 มิถุนายน 2562 ให้วางหลักประกันรื้อถอนแท่นเต็มจำนวนภายใน 120 วัน หรือครบกำหนด 11 ตุลาคม 2562 ประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ 200 แท่น วงเงินประมาณ  2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งบงกช 100 แท่น วงเงินประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับสัมปทานไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าควรวางหลักประกันเฉพาะแท่นที่รื้อถอนจริง ๆ เท่านั้น ส่วนแท่นไหนที่ผู้ชนะประมูล คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และพันธมิตรใช้งานได้ต่อ ก็ไม่ควรวางหลักประกันเต็มจำนวน โดยเมื่อได้ข้อมูลใหม่กรมเชื้อเพลิง ฯจะต้องเร่งสรุปว่าแท่นใดจะใช้งานได้ต่อภายสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อจะได้กำหนดเรื่องการวางหลักประกันรื้อถอนต่อไป

ยืดเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม 180 วัน