ยก‘อีอีซี’โมเดล สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

07 ต.ค. 2562 | 10:10 น.

“อุตตม”เร่งขับเคลื่อน “อีอีซี” ต้นแบบการสร้างสมดุลเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเชื่อมั่นลงทุน “สาธิต” ยกระดับสาธารณสุข 3 จังหวัด รองรับแรงงาน นักท่องเที่ยวในอนาคต หวังเพิ่มความเชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทาง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในงานสัมมนา “EEC NEXT : มหานครการบิน “ฮับ” โลจิสติกส์แห่งอาเซียน” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และบางโครงการเตรียมที่จะมีการลงนาม โดยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ชี้ให้เห็นว่าไทยมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ

“วันนี้เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของอีอีซี ซึ่งต้องการเห็นการเติบโตที่ยั่งยืนและดูแลคนไทยด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยที่จะต้องให้สำเร็จทุกส่วน” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ อีอีซีจะต้องขับเคลื่อนในทุกมิติและเป็นต้นแบบสำคัญให้กับพื้นที่อื่นทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านมามีการสร้างบุคลากรระดับอาชีวศึกษา รวมถึงการสร้างบุคลากรเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกร

ปัจจุบันอีอีซีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและเหมาะสมในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การบริการสุขภาพ แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลหลังจากเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกมีสัดส่วนถึง 70% ในขณะที่อีสเทิร์น ซีบอร์ด มีการพัฒนามามาก แต่เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทำให้ต้องมีการปรับ การปรับต้องพึ่งพาการลงทุนจากในและต่างประเทศ โดยต้องทำให้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

“วันนี้เมื่ออีอีซีเกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่การต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีการพัฒนาในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา แต่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคตะวันออกและประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของคนไทย” นายอุตตม กล่าว

ยก‘อีอีซี’โมเดล  สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในหัวข้อ “เปิดแผนภาครัฐ...เตรียมพร้อมรับมือเมืองขยาย” ว่า อีอีซีจะเป็นธงนำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ระยอง ที่แบกรับการเป็นธงนำทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด ดังนั้นการพัฒนาอีอีซีจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นทั้งสาธารณสุข การเกษตรและการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสาธารณสุขจะช่วยสร้างสมดุลของการพัฒนาอีอีซีได้ เนื่องจากการพัฒนาอีอีซีจะทำให้มีทั้งนักท่องเที่ยวและแรงงานจำนวนมากเข้ามาในอีอีซี จากปัจจุบันที่มีประชากร 2.8 ล้านคน แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากร 9.8 ล้านคน

ปัจจุบันโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดมี 55 แห่ง 7,471 เตียงเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาด้านสาธารณสุขในพื้นที่อีอีซีจะต้องพัฒนาให้สถานพยาบาลในจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทราอยู่ระดับทุติยภูมิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่กรุงเทพฯ โดยการดำเนินงานผ่านอีอีซีจะเสนอให้มีการจ้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาประจำในโรงพยาบาลในอีอีซี โดยอาจจ้างในอัตราสูง แต่ไม่ได้รับสวัสดิการเท่ากับบุคลากรอื่น

นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีในจังหวัดระยองมีการผลักดันโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นกลไกสำคัญในการปลุกเศรษฐกิจระยองให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยภาครัฐต้องการให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวครอบคลุมภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วย เพื่อให้ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว เติบโตไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาทุกส่วนไปพร้อมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

ยก‘อีอีซี’โมเดล  สร้างสมดุลเศรษฐกิจ