หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

06 ต.ค. 2562 | 05:05 น.

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

เรื่อง/ภาพ: ยลรดี ธุววงศ์

 

            ล่วงเลยเข้าฤดูใบไม้ร่วงตามปฏิทินรัสเซียมาเพียง 1 เดือน หิมะเกล็ดบางๆ ก็เริ่มโปรยปรายลงมาทักทายในยามค่ำหรือเช้าตรู่ที่อากาศลดต่ำเข้าสู่ตัวเลขติดลบ พร้อมกับใบไม้สีเหลืองทองที่ร่วงหล่น

            “ไซบีเรีย” แค่ได้ยินชื่อนี้ จิตนาการของหลายคนคงพาไปสู่ภาพ “ความหนาวเหน็บ” และ “ความทรหด” ของดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องความหนาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หน้าหนาวตามปฏิทินรัสเซียยาวนานเพียง 3 เดือน แต่ชาวไซบีเรียต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหิมะยาวนานถึงครึ่งปี อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวเย็นที่สุดของปีอยู่ที่ราว -20 องศา ขณะที่ปีที่แล้วในบางหมู่บ้านตรวจวัดอุณภูมิที่ต่ำที่สุดอยู่ที่ -67 องศาเซลเซียส

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

            แม้ว่าจะเลื่องลือเรื่องความหนาวเหน็บ ไซบีเรียกลับมีประชากรถึงราว 36 ล้านคน หรือราว 27% ของประชากรรัสเซียทั้งประเทศเลยทีเดียว

            สงสัยหรือไม่ว่า คนหลายล้านคนสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศที่โหดร้ายนี้ได้อย่างไร?

            ถ้าเปิดแผนที่ออนไลน์เข้าไปส่องไซบีเรียจากมุมสูง จุดที่ทุกเมืองมีความคล้ายคลึงกันคือบ้านเรือนที่กระจุกอยู่เป็นหย่อม โดยเฉพาะบริเวณศูนย์กลางของเมือง ขณะที่ห่างออกไป แทบไม่มีอาคารบ้านเรือง ทิ้งเป็นที่โล่งเปล่า นั่นเพราะชาวไซบีเรียต่างพึ่ง “ระบบทำความร้อน” ส่วนกลางจากโรงผลิตน้ำร้อนในเมือง ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยโซเวียต ไม่ว่าครอบครัวฐานะไหนก็เข้าถึงฮีทเตอร์อุ่นๆ (ที่บางครั้งก็ร้อนเกินควรไปเสียด้วยซ้ำ) และมีน้ำร้อนอาบได้ในราคาถูก

            ในแต่ละพื้นที่ของไซบีเรียมีบริษัทที่รับผิดชอบเป็นของตัวเอง โดยมากจะผลิตน้ำร้อนจาก “น้ำทิ้ง” จากโรงงานในบริเวณใกล้เคียง และส่งตามท่อใต้ดินเข้ามายังอาคาร ท่อหนึ่งจะเชื่อมเข้ากับเครื่องทำความร้อน หรือที่ชาวรัสเซียเรียกกันว่า “แบตเตอร์เรีย” ผลิตไอร้อนเพิ่มอุณหภูมิห้อง ทำให้อากาศในอาคารอยู่ที่ราว 15-20 องศาเซลเซียส ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าพบเห็นชาวรัสเซียใส่ขาสั้นแขนกุดอยู่บ้าน โดยมีพายุหิมะตกเป็นฉากหลังจากอีกฝั่งของหน้าต่าง

            หากไอร้อนจาก “แบตเตอร์เรีย” ไม่เพียงพอ ชาวไซบีเรียจะออกไปเลือกซื้อเครื่องทำความร้อนแบบพกพาติดห้องไว้สักเครื่อง หรือบางบ้านที่ยังมีปล่องไฟ มักออกไปตัดฟืนเพื่อนำมาจุดไฟผิงสร้างความอบอุ่น

ระบบทำความร้อนส่วนกลางสร้างความสะดวกสบายให้ชาวไซบีเรีย แต่หากบ้านที่โครงสร้างเก่าเกินกว่าจะเดินท่อน้ำร้อนเชื่อมกับอาคารได้ ก็ต้องใช้วิธีปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดกันลมหนาวประทังชีพ และยังมีชาวไซบีเรียชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนไม่น้อยที่ยังเลือกอาศัยอย่างปลีกวิเวกออกไปยังพื้นที่ห่างไกลตามวิถี พวกเขายังต้องพึ่งพาวิธีการสร้างความอุ่นตามวิถีดั้งเดิมเช่นกัน

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย

            ทุกปี ระบบทำความร้อนรวมของเมืองมักเริ่มสตาร์ทเครื่องทำงานต่อเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยนบนท้องถนนลดต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันมากกว่า 5 วัน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง เริ่มจากเปิดให้สถานที่สำคัญเช่นสถาบันการศึกษา คลินิก และโรงพยาบาล จากนั้นจึงทยอยเริ่มให้บริการอาคารบ้านเรือนพื้นที่ต่างๆ ของเมือง ซึ่งโดยมากแล้ว บ้านที่อยู่ไกลออกจากตัวเมืองไปจะได้สัมผัสไออุ่นจากเครื่องทำความร้อนเป็นคิวท้ายๆ

            ในทางกลับกัน เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 องศาต่อเนื่องเกิน 5 วัน จะเป็นสัญญาณที่ชาวไซบีเรียต้องโบกมือลาไอร้อนจาก “แบตเตอร์เรีย” ออกมาเดินเล่นตามท้องถนนอย่างคึกคักเพื่อรอรับแสงแดดธรรมชาติอุ่นๆ จากดวงอาทิตย์อีกครั้ง

หลังกล้องไซบีเรีย: เอาชีวิตรอดกับ -60° ฉบับชาวไซบีเรีย