กฟผ. เลิกเถอะ!! ซื้อปาล์มปั่นไฟ

04 ต.ค. 2562 | 08:46 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ต.ค.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

กฟผ. เลิกเถอะ!! ซื้อปาล์มปั่นไฟ

 

      จำเป็นต้องเลาะเลี้ยวมาหาเรื่องปาล์มอีกครั้งหนึ่ง แม้ จุรินทร์ ลักษณวิศิฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะกดปุ่มโครงการประกันรายได้เกษตรกร จ่ายชดเชยส่วนต่างราคาตลาดและราคาประกันให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มและได้มีเงินเข้าบัญชีกันแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

      แม้การริเริ่มดูดซับผลผลิตปาล์มผ่านโครงการนํ้ามันดีเซลบี 10 ของสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเดินหน้าอย่างขะมักเขม้นเข้มข้นไปสู่หมุดหมาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการยกระดับราคาปาล์มให้เกษตรกรไปที่ 4-5 บาทต่อกก.โดยไม่ต้องมีการใช้เงินแทรกแซงจากภาครัฐ ด้วยเหตุว่านํ้ามันบี 10 จะช่วยดูดผลผลิต นํ้ามันปาล์มออกไปกว่า 6 แสนตันต่อปี

      ปริมาณที่ดูดไปทำนํ้ามันบี 10 ที่มีการใช้นํ้ามันปาล์มบี 100 เพิ่มขึ้นอีก 3 % ไปผสมในนํ้ามันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิม 7% นั้นจะช่วยให้เกิดสมดุลผลผลิตปาล์มในประเทศทันที ทั้งเพื่อการบริโภคของคนและการใช้ในเครื่องจักร รถยนต์

      แต่ต้องเลี้ยวมาเพราะยังมีการใช้เงินหลวงอย่างไม่คุ้มค่าและเป็นช่องโหว่ช่องว่างให้มีคนหาผลประโยชน์จากโครงการรัฐ ในการซื้อปาล์มเผาปั่นไฟของกฟผ.

      โครงการการซื้อปาล์มเผาปั่นไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ.กำหนดไว้ 2 แสนตัน ซื้อไปแล้วกว่า 6 หมื่นตัน เหลืออีก 1.33 แสนตัน ผ่านคณะกรรมการนโยบายปาล์ม ผ่านครม.ไปเมื่อพฤษภาคม 2562

      ส่วนที่เหลือ 1.33 แสนตันนี้ กฟผ.ออกทีโออาร์ให้ยื่นซองเสนอราคา วันที่ 9 ตุลาคมนี้ และตั้งเป้าดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จนำนํ้ามันปาล์มอีกล็อตเข้าโรงไฟฟ้าภายใน 28 ตุลาคมนี้ จากท่าเรือที่จ.สุราษฎร์ธานีเหมือนเดิม ที่ผ่านมากฟผ.ซื้อปาล์มปั่นไฟไปแล้ว 2.26 แสนตันยังไม่รวม 1.33 แสนตันหลัง มูลค่าเม็ดเงินที่ต้องใช้ 1.9 พันล้านบาท

      ราคากลางรอบนี้ที่ประกาศซื้ออยู่ที่ 17.50 บาทต่อกก. โดยกฟผ.จะพิจารณาให้ผู้ที่เสนอราคานํ้ามันปาล์มดิบตํ่าสุด (บาทต่อกิโลกรัม) เป็นผู้ชนะเสนอราคา และหากรายสุดท้ายเสนอปริมาณเมื่อรวมแล้วเกิน 1.1 แสนตัน กฟผ.จะไม่พิจารณารายหลัง

      ราคารอบนี้จูงใจมากทีเดียว ในวงการรู้กันดี มีการตุนซื้อนํ้ามันปาล์มดิบไว้ที่ราคาเฉลี่ย 14 -15 บาทต่อกก. มีส่วนต่างแน่นอนอยู่ที่ 2-3 บาทต่อกก.เป็นอย่างน้อย สุดท้ายก็มาบีบให้รัฐเปิดโครงการให้ได้โดยอ้างมติเดิมไปกดดัน

      การไปไล่ซื้อราคานํ้ามันปาล์มดิบที่ 14-15 บาทอต่อก.ก.นั้นคิดเป็นราคาเกษตรกรขายผลปาล์มทะลายก็อยู่ที่ 2 บาทเศษๆ หรือบาทปลายๆ ต่อกก.เท่านั้น หมายความว่าเกษตรกรแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร จากเม็ดเงินของรัฐบาลที่ทุ่มผ่านกฟผ.เลย แถมต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงกว่าอยู่นิดๆ เมื่อเทียบเชื้อเพลิงอื่น ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเอาใจช่วยเกษตรกรแกล้งหลับตาข้างสนับสนุนกฟผ.ปั่นไฟแพง แต่หักกลบลบหนี้ผลได้ผลเสียแล้ว เมื่อเกษตรกรไม่ได้อานิสงส์อะไร แล้วจะดันทุรังโครงการไปทำไม

      หรือมีอะไรค้ำคอ จุกคอใครอยู่ ถึงไม่กล้าพูด เสนอให้ยกเลิก ยุติโครงการ

      หรือมีเฮีย หรือขาใหญ่คนไหนในภาคใต้ คอยจี้คอยบีบไม่ให้ยุติโครงการ

      “ที่ผ่านมาเอกชนซื้อเก็บสต๊อกไว้ที่ราคา 14-15 บาทต่อกก. กฟผ.มาเปิดรับซื้อที่ราคานำตลาด 17.50 บาทต่อกก. ดังนั้นคาดว่างานนี้ผู้เสนอขายมีกำไรไม่ตํ่ากว่า 2 บาทต่อกก.” อธิราษฎร์ ดำดี กรรมการ กนป.ยืนยัน

      ยังมีเวลาที่กฟผ.หรือใครก็ตามที่เป็นต้นเรื่องเสนอให้ กนป.ยุติโครงการนี้และนำมติกนป.ไปเสนอครม.ยุติโครงการเสีย อย่าดันทุรังให้เสียเงินหลวงไปมากกว่านี้

      อันที่จริงวิธีการที่จะช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ถ้ากฟผ.ตั้งใจจะทำจริง ให้ซื้อปาล์มทั้งทลายไปเผาผลิตไฟฟ้าเสียที่โรงไฟฟ้ากระบี่ดีกว่า ไม่มีเหตุให้ต้องเสียค่าขนส่ง ค่าจ้างเรือ ค่าท่าเรือ ค่าสต็อกส่งเป็นนํ้ามันมาเผาถึงบางปะกงให้เสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ เผาปาล์มทะลายแทบไม่มีมลพิษเลยด้วยเมื่อเทียบกับลิกไนต์ในอดีต

      อยู่ที่ความจริงใจของกฟผ.ที่จะมีให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มเท่านั้น !!