สิงคโปร์ออกกม.เล่นงาน ‘ข่าวปลอม’ เหรียญ2ด้านควบคุมการใช้สื่อ

06 ต.ค. 2562 | 01:10 น.

รัฐบาลสิงคโปร์ เริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายข่าวปลอม” หรือ Fake News Law แล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 เพื่อจัดการกับการเผยแพร่ข่าวปลอมหลังจากปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีการเถียงกันอย่างยาวนาน แต่ก็มีกระแสคัดค้านเกิดขึ้นเช่นกัน โดยเป็นที่วิตกว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

ชื่อเต็มๆ ของกฎหมายดังกล่าวคือ Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาที่ครองเสียงข้างมากโดย พรรคพีเพิลส์ แอ็คชั่น ปาร์ตี (พีเอพี) แกนนำรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาหลังจากใช้เวลาในการอภิปรายเพียง 2 วัน ฝ่ายคัดค้านกฎหมายฉบับนี้มองว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการให้อำนาจรัฐบาลมากเกินไปในการตัดสินใจว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม

สิงคโปร์ออกกม.เล่นงาน ‘ข่าวปลอม’ เหรียญ2ด้านควบคุมการใช้สื่อ

 

โทษหนักทั้ง“จำ”ทั้ง “ปรับ”

กฎหมายฉบับนี้ กำหนดโทษแก่ผู้ที่ถูกตัดสินว่าเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านบัญชีออนไลน์ โดยผู้กระทำผิดประเภทรายบุคคลจะต้องเสียค่าปรับ 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 72,108 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำคุกเป็นเวลาถึง 10 ปี (ขั้นสูงสุด) หรือทั้งจำคุกและปรับ ขณะที่ผู้กระทำผิดที่เป็นองค์กร จะต้องจ่ายค่าปรับขั้นสูงสุดถึง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ กฎหมายให้อำนาจแก่รัฐบาลในการกำหนดทิศทางการแก้ไข เพื่อบังคับให้ผู้โพสต์ข่าวปลอมบนช่องทางออนไลน์ต้องแก้ไขและหยุดเผยแพร่ข้อมูลข่าวปลอมนั้นๆ

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถสั่งให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือคนกลางผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ฝ่าฝืน หรือปรับสูงถึงวันละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมสูงสุดไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

รัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า ในขั้นต้นจะให้การยกเว้นเป็นการชั่วคราวให้กับคนกลางที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยในขณะนี้ กลุ่มผู้ให้บริการดังกล่าวจะยังไม่ถูกลงโทษในทันทีหากไม่สามารถแก้ไขหรือระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ฝ่าฝืนเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มของกลุ่มผู้ให้บริการดังกล่าว โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้เหตุผลการยกเว้นชั่วคราวนี้ว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการจัดเตรียมมาตรการและเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้

 

เครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้าม?

การบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ มีเป้าหมายกวาดล้างการเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ข่าวลวงทั้งหลาย และการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและบริษัทเทคโนโลยี รวมทั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งวิตกว่ากฎหมายฉบับนี้จะริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นายฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ถึงกับออกมาวิพากษ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็น “หายนะ” ต่อสิทธิมนุษยชน

 

ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กก็มีความวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้บริษัทจะได้หารือกับรัฐบาลสิงคโปร์ และให้คำมั่นว่าจะช่วยจัดการกับข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่กังวลก็คือ กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถบังคับบริษัทเทคโนโลยีให้ลบคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่พวกเขาคิดว่าเป็นข้อมูลเท็จ เป็นข่าวปลอม และสามารถส่งคำเตือนจากรัฐบาลถึงผู้ใช้ได้ด้วย

 

ในแง่ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นที่หวั่นเกรงกันว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ต หรือบรรดา “เน็ตติเซน” (netizen) ในสิงคโปร์ต้องยับยั้งชั่งใจให้มากขึ้นก่อนที่จะโพสต์แสดงความเห็นใดๆ ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย เรียกว่าต้องมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาของตัวเองมากขึ้น (self-censorship) ซึ่งมองในแง่ดีก็ดี แต่มองอีกแง่ก็อาจเป็นการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน เพราะกลัวว่าความคิดเห็นส่วนตัวที่ถ่ายทอดออกไป อาจจะไปขัดกับตัวบทกฎหมายซึ่งมีโทษหนักเอาการ

 

นอกจากนี้ ที่หวั่นวิตกกันมากก็คือ นั่นอาจหมายถึงการสนทนาทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นส่วนตัว เช่น กลุ่มแชตต่างๆ รวมทั้งแอพพลิเคชันสนทนาอย่าง WhatsApp และ Telegram จะถูกทางการเข้ามาตรวจสอบด้วยหรือไม่

 

ยิ่งการเลือกตั้งทั่วไปในสิงคโปร์ใกล้เข้ามา พรรคฝ่ายค้านก็ยิ่งเห็นว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ อาจเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายรัฐบาลมุ่งหวังนำไปใช้ควบคุมเนื้อหาที่มีการเผยแพร่กันทางอินเตอร์เน็ตว่าข่าวใดจะให้ “คุณ” หรือให้ “โทษ” กับรัฐบาล ก็อาจถูกจัดเข้าข่าย “ข่าวจริง” และ “ข่าวลวง” เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2562