มองข้ามปัจจัยเสี่ยง ทำน้ำท่วมอุบล

03 ต.ค. 2562 | 12:54 น.

 

 

ท่ามกลางความหมดหวังเรื่องฝนฟ้าในฤดูฝน 2562 แต่พายุโพดุลและพายุคาจิกิ รวมทั้งก่อนนั้นอีกสามลูก ช่วยฉุดกระชากความหวังขึ้นมา

                ฝนตกมากขึ้น แหล่งน้ำโดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีน้ำน้อยค่อยๆ ขยับปริมาณเก็บกักได้ดีขึ้นระดับหนึ่ง

                มองข้ามปัจจัยเสี่ยง  ทำน้ำท่วมอุบล

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า น้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งนี้ ปริมาณน้ำไม่ได้มากเท่าปี 2545  แต่ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กลับสูงกว่าอย่างน่าประหลาดใจ

                มองข้ามปัจจัยเสี่ยง  ทำน้ำท่วมอุบล

มองข้ามปัจจัยเสี่ยง  ทำน้ำท่วมอุบล

มองข้ามปัจจัยเสี่ยง  ทำน้ำท่วมอุบล

ฝนจากพายุโพดุลที่ตกหนักในลุ่มน้ำชีตอนกลาง บริเวณ จ.ขอนแก่นตอนล่าง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และยโสธร จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ตลบเข้ามาปะทะ เนื่องจากอิทธิพลของพายุคาจิกิ ทำให้ฝนตกแช่อยู่ที่อุบลราชธานีเป็นเวลานาน เป็นประเด็นแรก

                ประเด็นต่อมา จ.อุบลราชธานี เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสายหลัก 2 สายของอีสาน คือแม่น้ำชีกับแม่น้ำมูล มีจุดนัดพบที่ อ.เขื่องใน  ปีนี้ลำน้ำชีมีปริมาณน้ำคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ในขณะน้ำมูลมีเพียง 20% อีก 20% มาจากลุ่มน้ำยัง และลำเซบาย

                ลำน้ำชีบวกลำน้ำยังและลำเซบายมากกว่า 80%ไหลหลากท่วมเมืองอุบลฯ และเมืองวารินชำราบ การก่อสร้างคันกั้นน้ำตลอดลำน้ำชี ก็เป็นส่วนเสริมที่ทำให้น้ำพุ่งเร็วลงมาท่วมเมือง เพราะไม่อาจไหลบ่าออกด้านข้างสองตลิ่งเหมือนเคย

               

 

 

“ความชันของลำน้ำชีก็มากกว่าลำน้ำมูล ดังนั้นน้ำจึงเข้าโจมตีอุบลราชธานีอย่างรวดเร็ว โดยมีตัวเมืองอุบลฯ และ อ.วารินชำราบ กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำกลายๆ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

               

สิ่งกีดขวางทางน้ำที่ว่า คือการขยายตัวของชุมชนเมืองอุบลฯ และเมืองวารินชำราบ ซึ่งมีการรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ลุ่มต่ำ ปกติเป็นแหล่งรับน้ำธรรมชาติ รับรู้กันในนามป่าบุ่งป่าทาม  เมื่อมีการก่อสร้างอาคารทั้งห้างสรรพสินค้า ชุมชน บ้านจัดสรร และ ฯลฯ ล้วนเชื้อเชิญให้น้ำอยู่นานเป็นพิเศษ

                เป็นจุดอ่อนที่ไม่ต่างจากการให้พื้นที่ จ.อยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน

                แม้เมื่อนำน้ำ 2 สายหลักพบกันที่ อ.เขื่องใน แล้ว  เรียกแม่น้ำมูลเพียงชื่อเดียวก็ยังเจออุปสรรคใหญ่เช่นกัน สิ่งกีดขวางทางน้ำธรรมชาติ คือแก่งสะพือ กับแก่งตะนะ ขวางลำน้ำเอาไว้ไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้โดยง่าย

                “แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้เลย เพราะระดับลำน้ำโขงต่ำกว่าตลิ่ง แต่น้ำมูลและน้ำชีเจอปัญหาตั้งแต่อุบลราชธานีอยู่แล้ว”

                ทางออกของปัญหามีอยู่ 3 แนวทางหลัก

                แนวทางแรก คือ การขุดลอกคลองขยายเชื่อมต่อกับแก้มลิงสองฝั่งของลำน้ำชี ซึ่งกรมชลประทานจะเริ่มดำเนินการในส่วนแรกในปี 2563 นี้

                แนวทางที่สอง คือ การสร้างแก้มลิงในลุ่มน้ำยังอย่างน้อย 50,000 ไร่ เพื่อดักน้ำเข้าแก้มลิงตัดยอดน้ำที่จะสมทบกับแม่น้ำชี ช่วยให้อุบลราชธานีลดปัญหาน้ำหลากได้ระดับหนึ่ง

                และแนวทางที่สาม โดยการสร้างคลองลัดตัดยอดน้ำชีบางส่วนมุ่งตรงไปลงแม่น้ำโขงเลย ซึ่ง สทนช.จะศึกษาทั้งระบบร่วมกับการพิจารณาทำช่องลัดอ้อมเมืองหรืออ้อมแก่งสะพือ

                “ถ้าทำแก้มลิงที่ลุ่มน้ำยังก็ต้องวางแผนหาแหล่งน้ำสำหรับส่งให้เกษตรกรเร่งเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวก่อนน้ำจะหลากเหมือนทุ่งบางระกำหรือที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยา เดิมทีจะอาศัยน้ำที่เพิ่มจากการเสริมเขื่อนลำปาวเพิ่มความจุ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องพิจารณาหาทางอื่น เช่น การเช่าพื้นที่รองรับน้ำ เป็นต้น” เลขาธิการ สนทช. กล่าว

                อย่างไรก็ตาม น้ำจากลำน้ำยังสามารถหน่วงหรือชะลอได้ โดยทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าจัดระบบได้ดีเหมือนบางระกำ โมเดล พื้นที่ลุ่มน้ำยังตรงนี้ ยังสามารถทำให้เกษตรกรมีความสุขจากการลดความเสี่ยงในการเพาะปลูก มีรายได้เพิ่มจากการจับปลา กระทั่งมีรอบฤดูการเพาะปลูกมากกว่าเพียงครั้งเดียว

                เห็นสภาพน้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งนี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนเก็บไปพิจารณา โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่ไปรุกล้ำธรรมชาติอาจกลับมาทิ่มแทงตัวเองได้