รายได้ดอกเบี้ยแบงก์ ไตรมาส3 วูบ

03 ต.ค. 2562 | 11:06 น.

จับตารายได้ดอกเบี้ยแบงก์ ไตรมาส 3 วูบ หลังตบเท้าลดดอกเบี้ย MRR-MOR เฉลี่ย 0.25% ตามธปท.เริ่มส่งสัญญาณกดรายได้

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงทั้ง MRR และ MOR ย่อมมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ยที่จะหายไปทันที ซึ่งธนาคาร กรุงเทพเอง คาดว่า รายได้ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับระบบเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องเร่งหารายได้ส่วนอื่นๆ มาช่วยชดเชยรายได้ที่หายไป โดยเปิดบริการใหม่ หรือหารายได้ค่าธรรมเนียมในผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ เช่น การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน รายได้ค่าธรรมเนียมจากการออกหุ้นกู้ การบริการจ่ายบิล หรือบริการจัดการเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร(Payroll) ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมหรือปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจุบันที่ความต้องการสินเชื่อมีน้อย

รายได้ดอกเบี้ยแบงก์  ไตรมาส3 วูบ

“แม้จะเร่งหารายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากบริการต่างๆ แต่เชื่อว่า ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป เพียงแต่จะช่วยประคองไม่ให้รายได้โดยรวมลดลงแรง ซึ่งต้องยอมรับว่า รายได้ดอกเบี้ยเป็นรายได้หลักของธนาคารที่มาจากการปล่อยสินเชื่อ และมีสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมและรายได้ในส่วนอื่นๆ ของธนาคาร จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า ไตรมาส 4 จะกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่ เพราะทั่วโลกยังคงมีสถานการณ์ความไม่แน่นอน

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) เมื่อเดือนสิงหาคมเริ่มส่งสัญญาณต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารในไตรมาส 3 ให้ปรับลดลง เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อบนฐานอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR และ MOR ค่อนข้างเยอะ เพราะธนาคารมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการช่วยลูกค้ารายย่อยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐ 

รายได้ดอกเบี้ยแบงก์  ไตรมาส3 วูบ

อย่างไรก็ดี มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR และ MOR ลงนั้น อาจจะยังไม่ช่วยลูกค้ามากนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขยายตัวไม่สูง การบริโภคไม่เพิ่ม ซึ่งลดดอกเบี้ยก็ไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากเป็นปัญหาในฝั่งของผู้ซื้อที่ขอสินเชื่อไม่ได้ เพราะไม่มีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) เช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลง