สหรัฐฯเล็งเก็บภาษีสินค้าอียูเพิ่มกว่า 2 แสนล้าน

03 ต.ค. 2562 | 07:51 น.

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา(ยูเอสทีอาร์)ออกแถลงการณ์ในวันพุธ (2 ต.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ)ว่า รัฐบาลสหรัฐฯวางแผนจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (อียู) หลายรายการ หลังจากที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป วงเงินรวม 7,500 ล้านดอลลาร์

โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯระบุว่า สหรัฐฯจะเริ่มดำเนินการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอียูตามมติเห็นชอบของดับบลิวทีโอในวันที่ 18 ต.ค.นี้ แต่ก็ยังคาดหวังที่จะเจรจากับอียูเพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหา แถลงการณ์ของยูเอสทีอาร์ยังระบุด้วยว่า แม้จะมีสิทธิอำนาจในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอียูได้ถึง 100% แต่ในขณะนี้ อัตราการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจะถูกจำกัดเอาไว้ที่ 10% สำหรับเครื่องบินพลเรือนขนาดใหญ่ และ 25% สำหรับสินค้าเกษตร อาทิ กาแฟ ชีส น้ำมันมะกอก โยเกิร์ท เนย ฯลฯ และสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม เครื่องจักรกล ฯลฯ

 

สหรัฐฯเล็งเก็บภาษีสินค้าอียูเพิ่มกว่า 2 แสนล้าน

ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการของดับบลิวทีโอ มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป โดยระบุว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายแก่บริษัทแอร์บัส ดับบลิวทีโอยังระบุว่า อียูได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการให้การอุดหนุนแอร์บัส หรือยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยทำให้ยอดขายเครื่องบินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯทรุดตัวลงอย่างมาก

 

รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อดับบลิวทีโอในปี 2547 เกี่ยวกับการที่รัฐบาลยุโรปให้การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมต่อการผลิตเครื่องบินแอร์บัส A350 และ A380 เพื่อสร้างความได้เปรียบทางอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่ทางอียูก็ฟ้องกลับว่าสหรัฐฯได้ให้การอุดหนุนบริษัทโบอิ้งเช่นกัน  เวลาผ่านไป 15 ปี สหรัฐฯจึงประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องนี้  รายงานข่าวระบุว่า ทางการสหรัฐฯเตรียมพิจารณาเก็บภาษีสินค้าจากยุโรปหลายชนิดตั้งแต่เครื่องบินแอร์บัสซึ่งจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมอีก 10%  ไปจนถึงไวน์ฝรั่งเศส สกอตต์ และไอริช วิสกี้ (เก็บภาษีเพิ่ม 25%) และชีสจากเกือบทุกประเทศในยุโรปเป็นมูลค่ารวมถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นเก็บภาษีจากประเทศซึ่งเป็นฐานการผลิตของเครื่องบินแอร์บัส

สหรัฐฯเล็งเก็บภาษีสินค้าอียูเพิ่มกว่า 2 แสนล้าน

 

ส่วนกรณีที่ทางอียูร้องเรียนต่อดับบลิวทีโอว่า สหรัฐฯ จ่ายเงินอุดหนุนบริษัท โบอิ้ง อย่างผิดกฎหมายจึงขอเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเช่นกันนั้น  คาดว่าจะมีคำตัดสินในปีหน้า (2563) ว่าอียูจะขึ้นภาษีสินค้าใดได้บ้างในวงเงินเท่าใด (ก่อนหน้านี้ในปี 2553 และ 2554 ดับบลิวทีโอได้ตัดสินออกมาแล้วว่า ทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง ต่างรับเงินช่วยเหลืออย่างผิดกฎหมายทั้งคู่) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรป ยังหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงกันได้

 

ปัจจุบัน สหรัฐฯส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอียูคิดเป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 319,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561) ทำให้อียูเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าอียูมายังสหรัฐฯนั้นอยู่ที่ประมาณ 488,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าอียูเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ