สร้างปัจจัยแวดล้อม เอื้อแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

02 ต.ค. 2562 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3510 ระหว่างวันที่ 3-5 ต.ค.2562

 

สร้างปัจจัยแวดล้อม

เอื้อแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

 

          ถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ แต่ละครั้งอาจส่งนัยสำคัญบางประการในทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดผู้ว่าการธปท.พูดในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจําปี 2562 “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน”

          กุญแจสําคัญตัวหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้เราก้าวข้ามขีดจํากัดของทรัพยากร ขีดจํากัดทางเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือ “การแข่งขัน” เป็นกลไกสําคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถให้สูงขึ้นกว่าเดิม นําไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ตํ่าลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม

          ผู้ประกอบการมักจะไม่ค่อยชอบการแข่งขัน และลืมไปว่าการแข่งขันเป็นประโยชน์ในระยะยาว โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าระบบเศรษฐกิจในประเทศไม่มีการแข่งขันที่มากพอแล้ว ผู้ประกอบการอาจชะล่าใจ ไม่พัฒนาตนเองเท่าที่ควร ระบบนิเวศของการทําธุรกิจจะเฉื่อยชาและมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการจะขาดทักษะในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันจากภายนอก หรือจากรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่มากับพัฒนาการของเทคโนโลยีก็จะตั้งตัวไม่ทัน

          การแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายธุรกิจที่มีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง ผู้ประกอบการที่อยู่รอดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านต่างๆ ขณะที่รายย่อยหรือรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ หลายครั้งการแข่งขันจึงอาจจบลงด้วยการผูกขาดกินรวบ หลายภาคธุรกิจยังถูกจํากัดด้วยสิทธิพิเศษที่ผู้ประกอบการบางรายได้รับจากภาครัฐ หลายครั้งการแข่งขันถูกจํากัดด้วยการใช้ผลประโยชน์จากอํานาจผูกขาดไปยับยั้งกฎเกณฑ์และกติกาที่จะทําให้ตนเสียประโยชน์และกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน ถูกจํากัดโดยการใช้อํานาจเหนือตลาด ถูกจํากัดด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือถูกจํากัดด้วยกฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัย

          เราสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเข้าสู่ระบบการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยภาครัฐต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้มีโอกาสและช่องทางเข้าสู่การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ลดและจำกัดการผูกขาด อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจรายใหญ่ลงรัฐต้องสนับสนุนคนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมเพื่อเปิดโอกาส สร้างศักยภาพการแข่งขันในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากกระแสโลกดิจิทัล จากที่ผ่านมาผู้รับผิดชอบภาครัฐ นักการเมือง ข้าราชการ มักกระทำตัวเป็นผู้บั่นทอนมากกว่าการส่งเสริมการแข่งขัน