เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

30 ก.ย. 2562 | 07:39 น.

"จุรินทร์" ประชุมวีดีทัศน์ทางไกลผู้ว่าฯทุกจังหวัดพร้อมฝ่ายที่เกี่ยวข้องโครงการประกันรายได้เกษตรกร  ประเดิมเคาะจ่ายเงินงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.สำหรับปาล์มน้ำมัน 1 ต.ค.นี้ ส่วนข้าวเริ่ม 15 ต.ค. พร้อมให้ความมั่นใจชาวนาที่น้ำท่วมยังได้รับสิทธิประกันรายได้ตามเดิมที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวจริง  ส่วนยางพาราเตรียมประชุมหาข้อสรุป 4 ต.ค.นี้ ข้าวโพด-มันรอคิว

นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และชาวสวนปาล์มน้ำมันให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัดและคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด กับผู้แทนจาก 8 หน่วยงาน โดยใช้ระบบประชุมวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) เพื่อทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การประกันรายได้เกษตรกร โดยระบุว่า การประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจะประกันรายได้ 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ยางพารา  มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด  ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินในสินค้าเกษตร 2 รายการแล้วได้แก่ ข้าวและปาล์มน้ำมัน

 

ส่วนยางพารา จะมีการประชุมเพื่อออกมาตรการการประกันรายได้ ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ โดยการดำเนินนโยบายนี้ต้องมีการหารือ 3 ฝ่ายได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และตัวแทนเกษตรกร เพื่อให้การดำเนินนโยบายราบรื่น และบรรลุเป้าหมายสูงสุด ในขณะที่มันสำปะหลังและข้าวโพด ต้องรอให้ ครม.อนุมัติตั้งคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังและคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดที่เพิ่งจะหมดวาระก่อน แต่ทั้งนี้ตนอาจจะมีการประชุมคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายก่อนเพื่อหารือถึงเงื่อนไขและการดำเนินงาน คาดน่าจะเริ่มประชุมได้ภายในสัปดาห์หน้า

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

สำหรับนโยบายการประกันรายได้ในพืชเกษตร 2 ตัวแรกนั้น โดยปาล์ม จะประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ(กก.) 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่  โดยการโอนเงินส่วนต่างราคา คำนวณจากราคาประกัน – ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง = ส่วนต่างที่รัฐชดเชย  ยกตัวอย่าง ราคาเป้าหมายที่ 4 บาทต่อ กก. ลบด้วยราคาอ้างอิง(ราคาย้อนหลัง 45 วัน โดยคำนวณส่วนต่างจากราคาเป้าหมาย) ที่ 2.68 บาทต่อกก. ซึ่งจะได้ส่วนต่างที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้ที่ 1.32 บาทต่อกก. ดังนั้นถ้าเกษตรกรมีพื้นที่ 25ไร่ จะได้รับเงินชดเชยงวดที่1 (1.32 บาทต่อกก.คูณ 25 ไร่ คูณ 363.25 กก.) ที่ 11,987.25 บาท  โดยรัฐบาลจะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีของเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส)โดยตรง ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

“สาเหตุที่รัฐบาลประกันรายได้ชาวสวนปาล์มมากที่สุดที่ 25 ไร่ต่อครัวเรือน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินไม่ถึง 25ไร่ เนื่องจากนโยบายนี้ตั้งใจช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย จึงขอให้เกษตรกรสวนปาล์ม 260,000 ครอบครัวเตรียมไปตรวจสอบบัญชีธนาคารได้ในวันนี้ (1ตุลาคม2562)”

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายเสริมในการช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มเติม คือการขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อปาล์มเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งได้รับซื้อแล้ว 110,000 ตัน การส่งเสริมการส่งออกไปอินเดีย และลดการลักลอบการนำเข้าผิดกฎหมายและการส่งเสริมใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมปาล์มน้ำมัน

 

ส่วนประกันรายได้ข้าวนั้น จะเริ่มจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาในวันที่ 15 ตุลาคม 2562  ซึ่งหากเกษตรกรปลูกข้าวที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้รีบไปขึ้นทะเบียน/ตรวจสอบสิทธิ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และเปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. เพื่อใช้สิทธิรับเงินประกันรายได้งวดต่อไป ทั้งนี้ข้าวที่จะได้รับการประกันรายได้ มี 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ,ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ  25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน  แต่ทั้งนี้รัฐบาลจะไม่ประกันรายได้การปลูกข้าว 18 สายพันธุ์นอกเหนือจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ส่งเสริมการปลูกข้าวสายพันธุ์อื่น โดยรัฐบาลจะโอนเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั้ง 5 ชนิด ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะรวมถึงเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย ซึ่งถึงแม้จะขายพืชผลไม่ได้ ก็จะได้รับเงินชดเชยนี้เช่นกัน

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถไปขึ้นทะเบียนและสามารถได้รับเงินชดเชยนี้ได้ เฉพาะสินค้าเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่บุกรุกทำลายป่า โดยรัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือ ล่าสุด รัฐบาลได้เจรจากับรัฐบาลจีนในการส่งออกมันสำปะหลัง ที่ขายไปแล้ว 2.6 แสนตัน และจะนำทัพไปขายผลไม้ไทยที่จีนอีกในเดือนตุลาคมนี้ และล่าสุดได้ขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้กับอินเดียเดียมูลค่า 12,000 ล้านบาท 

เคาะจ่ายส่วนต่างปาล์มงวดแรก 1.32 บาทต่อกก.

 “พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานบางจังหวัด ที่เกษตรกรมีความกังวลว่าจะไม่ได้รับเงินชดเชยนั้น ขอยืนยันว่าไม่ต้องกังวล รัฐบาลยังจะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกจริงตามเดิม แม้ว่าจะไม่มีผลผลิตก็ตาม เกษตรกรยังคงได้รับสิทธิตามเดิม”