ชงโมเดลพลังงานชุมชนสร้างศก.ฐานรากได้จริง

01 ต.ค. 2562 | 08:20 น.

 

วิสาหกิจชุมชน ชงโมเดลพลังงานชุมชน ให้สนธิรัตน์หนุนการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก 50-100 กิโลวัตต์ และผลิตความร้อน ตอบโจทย์ให้ชุมชนเป็นเจ้าของพลังงาน สร้างรายได้อย่างแท้จริง

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้พลังงานเข้าถึงทุกคน ที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอโดยขณะอยู่ในระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดเพื่อนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ นำกลับมาให้กพช.เห็นชอบต่อไป

ขณะที่มีอีกมุมมองหนึ่ง เห็นว่า นโยบายของนายสนธิรัตน์ เพื่อให้พลังงานเข้าถึงทุกคนได้จริง จะต้องมีการส่งเสริมพลังงานระดับชุมชนที่เล็กลงมาจากโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและบริหารงานได้อย่างแท้จริง

นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ชุมชนเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริงนั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากตั้งแต่ 50-100 กิโลวัตต์ต่อแห่งในพื้นที่ที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น บนเกาะ พื้นที่สูง ชุมชนชายขอบ ที่มีอยู่กว่า 50,000 ครัวเรือน ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 3-6 ล้านบาทต่อแห่ง โดยชุมชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้เองทั้ง 100% ที่ใช้เชื้อเพลิงจากทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนํ้าขนาดเล็กและขยะในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายไฟฟ้าส่วนเกิน ความต้องการได้อีกทางหนึ่ง หรือนำเงินจากการขายไฟฟ้ามาลดเป็นค่าไฟฟ้าให้กับชุมชน

 

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานนั้น ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ชุมชนยืมเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาดำเนินการก่อน และเมื่อขายไฟฟ้าได้ค่อยทยอยชำระคืน ภายในระยะเวลา 6 ปี ในขณะที่รับซื้อไฟฟ้าในอัตรา FiT ที่ 4.24 บาทต่อหน่วย และบวกเพิ่มให้อีก 1 บาท รวมเป็น 5.24 บาทต่อหน่วย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าพื้นที่ปกติ

 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานความร้อนในชุมชนให้เกิดขึ้น เนื่องจากมีชุมชนจำนวนมากสามารถผลิตก๊าซชีวภาพหรือ Syngas ที่เปลี่ยนสถานะจากชีวมวลโดยใช้เทคนิคของ gasification มาเป็นก๊าซ ที่สามารถนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าหรือใช้แทนก๊าซหุงต้ม นำไปใช้ในกิจกรรมของชุมชนได้ เช่น อบลำไย อบใบชา หรือแปรรูปสินค้าเกษตรใน ชุมชน เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับชุมชน

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

ชงโมเดลพลังงานชุมชนสร้างศก.ฐานรากได้จริง