‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’ กางแผนฟื้น‘นกแอร์’

30 กันยายน 2562

 

นับจากกลุ่มจุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่นกแอร์มีการจัดทัพใหม่ โดยส่งวุฒิภูมิ จุฬางกูรมากุมบังเหียนการบริหารสายการบินในฐานะซีอีโอตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมา ส่งผลขณะนี้นกแอร์ได้รื้อแผนฟื้นฟูธุรกิจที่เคยทำไว้เดิม ปรับใหม่หมด และปรับทิศทางการดำเนินงานในหลายเรื่อง เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ อ่านได้จากการเปิดใจของ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด

 

ยันสู้ต่อกับนกแอร์

ซีอีโอนกแอร์ เปิดใจว่าเดิมนกแอร์ใช้มืออาชีพมาบริหารงานให้ ผมไม่ได้บริหารนกแอร์แต่แรก แต่การที่ทางบ้านให้ผมมาช่วยนกแอร์ เพราะเห็นว่า ผมอยู่กับบริษัทในเครือซัมมิทมากกว่า 100 บริษัท หลายบริษัทผมมีส่วนเข้าไปช่วยฟื้นฟู จึงมีทักษะในการทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงและพลิกฟื้นธุรกิจได้

ประกอบกับผมมีจิตใจชอบช่วยเหลือคนไทยมาตั้งแต่เด็ก ทั้งสึนามิ นํ้าท่วมพระนครศรีอยุธยา หรืออย่างนํ้าท่วมที่อุบลราชธานี ก็เข้าไปช่วย ครอบครัวผมเล็งเห็นแบบนี้ และจากการที่นกแอร์ ถอดบางเส้นทางบินออกไป จากเดิมที่เคยดัมพ์ราคาขาย 500 บาท ก็ขึ้นราคาขายกัน 3-5 พันบาท แล้วต่อไปคนไทยจะทำอย่างไร แล้วธุรกิจจะเจริญอย่างไร ในเมื่อหลายๆอย่างมีการผูกขาด เขาก็ส่งเรามาช่วยดูนกแอร์ และครอบครัวก็ไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน

ที่ผ่านมานกแอร์มีปัญหาการขาดทุน แต่เมื่อผมเข้ามาดูก็เห็นโอกาสในหลายเรื่อง ที่หากแก้ไขนกแอร์ จะทำรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกมาก อย่างนกแอร์ไม่เคยบินกลางคืนเลยจากนี้ก็จะบิน ทำให้เรามีรายได้เพิ่มอีกเท่าตัวได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศก็เห็นนกแอร์มีมูลค่าเยอะ คนที่อยู่ในแวดวงการบินมองเห็นอนาคต นกแอร์ ทั้งเกาหลีใต้ จีน ไทย ติดต่อเรามาเยอะ แต่เราก็มองว่ายังไงเราก็ต้องช่วยนกแอร์ต่อไป ถ้าไม่มีไทยไปไม่รอด และนกแอร์ก็เป็นสายการบินคนไทย 100%

‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’  กางแผนฟื้น‘นกแอร์’

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

 

ชู 3 แผน แก้ปัญหาดีเลย์

ทั้งนี้นับจากผมเข้ามาดูแลการบริหารงานเองเป็นเวลาเกือบ 4 เดือน ผมพบว่าอะไรที่เป็นปัญหาหลัก ก็ได้เข้าไปแก้ปัญหาก่อน ประเด็นหลัก คือ ผู้โดยสารจะมีคอมเมนต์เรื่องเที่ยวบินดีเลย์ ซึ่ง วันนี้เราแก้ปัญหาแล้ว โดยแก้ไขใน 3 เรื่อง

ได้แก่ 1.การตัดสินใจลงทุนราว 100 ล้านบาท ในการสต๊อกอะไหล่เครื่องบินไว้ที่สนามบินดอนเมือง โดยนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นจากนี้หากเครื่องบินมีปัญหาก็แก้ไขได้ทันที เพราะเดิมที่นกแอร์ มีปัญหาดีเลย์มาก เกิดจากเมื่อเครื่องมีปัญหาเราต้องจอดเครื่องบินไว้ เพื่อรอสั่งอะไหล่จากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก็ใช้เวลา 3-7 วัน ซึ่งเมื่อก่อนนกแอร์ทำไม่ได้ เพราะขาดเงินทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ตอนนี้นกแอร์ได้วงเงินกู้จากผู้ถือหุ้นราว 3 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเรานำมาใช้เป็นเงินหมุนเวียน และตัดสินใจลงทุนสต๊อกอะไหล่เอง เพื่อลดปัญหาการดีเลย์

2. การปรับเปลี่ยนตารางบินใหม่ จากเดิมเครื่องบินของนกแอร์ทั้ง 22 ลำ ปกติเครื่องบิน 1 ลำจะทำการบินเฉลี่ยราว 8 เที่ยวบินต่อวัน โดยบินออกจากสนามบินดอนเมืองในช่วงราว 06.00-07.00 . จากนั้นก็จะบินกลับมาพร้อมๆกัน แต่วันนี้เราแบ่งอย่างละ 4:4 แบ่งครึ่งเช้าก่อนเที่ยง กลับช่วงบ่าย เผื่อเวลาเอาไว้ตรงกลาง(ตอนเที่ยง) 1 วัน 1 เครื่อง กันช่วงเช้ามีการดีเลย์ก็จะแก้ปัญหาได้

รวมถึงมีการเผื่อเวลาเพิ่ม จากเดิมจะให้ผู้โดยสาร On Ground (ภาคพื้น) ในสนามบิน 30 นาที เพิ่มเป็น 45 นาที เพราะเมื่อก่อนนกแอร์เป็นสายการบินเดียวในสนามบินดอนเมือง ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เรามีคู่แข่งมาก ทราฟฟิกในสนามบินเยอะขึ้นและแน่นมาก การเผื่อเวลาเพิ่มและปรับเปลี่ยนตารางบินก็จะช่วยแก้ปัญหาได้

 

‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’  กางแผนฟื้น‘นกแอร์’

 

3. ในช่วงไฟลต์เช้าของทุกๆวัน จะมีเครื่องบิน 1 ลำ สำรองเอาไว้ โดยฝูงบินปัจจุบัน เรามีโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ และบอมบาร์เดียร์ Q400 จำนวน 8 ลำ ก็จะสำรองโบอิ้งไว้ 1 ลำ และบอมบาร์เดียร์ Q400 ไว้ 1 ลำ ซึ่งเครื่องบินที่สำรองเอาไว้จะไม่นำมาบินในช่วง 6-7 โมงเช้า เพื่อสำรองไว้ในกรณีเผื่อเครื่องเสียหรือมีปัญหาดีเลย์ ก็สามารถนำเครื่องบินนี้มารับต่อทันที

การสำรองเครื่องบินไว้ แม้จะส่งผลต่อกำลังการผลิตของสายการบินที่ลดลง แต่เราต้องการรักษาผู้โดยสารไม่ให้หนีเราไป ไม่ให้นกแอร์กลับมามีปัญหาเรื่องของการดีเลย์ ไม่งั้นเราจะเป็นพรีเมียม บัดเจ็ต แอร์ไลน์ได้ไงถ้าหากทำการบินไม่ตรงเวลา ส่วนกำลังการผลิตที่ลดลง เราก็ต้องไปมองว่าต้องแก้อย่างไร ก็พบว่าที่ผ่านมานกแอร์บินเฉพาะช่วงกลางวันอย่างเดียว ไม่สนใจหารายได้ตอนกลางคืน

ทำให้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน นกแอร์จะเน้นบินกลางคืนให้มากขึ้น อย่างการเปิดบินไปยังเมืองฮิโรชิมา และอินเดีย จากนั้นขากลับเครื่องบินก็จะบินมากรุงเทพฯราวตี 5-6 โมง ก็สามารถทำการบินต่อเส้นทางบินในประเทศได้ เพราะวันนี้จะเห็นว่าผู้โดยสารต้องการบินช่วงตี 5-6 โมงเช้ามีสูงมาก ซึ่งก็ทำให้การใช้งานเครื่องบินมีเพิ่มขึ้นจากปกติอยู่ที่ 9-10 ชั่วโมงต่อลำ ขยายไปได้ถึง 12 ชั่วโมงต่อลำ

 

รื้อแผนเดิมทำฟื้นฟูใหม่

ไม่เพียงการแก้ปัญหาเร่งด่วนดังกล่าว ขณะนี้นกแอร์อยู่ระหว่างดำเนินการทำแผนฟื้นฟูใหม่ เป็นแผนการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย คาดว่าจะนำเรื่องเข้าบอร์ดนกแอร์ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยแผนการเพิ่มรายได้ในปีนี้นกแอร์ จะรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 2 ลำ มาทำการบินเส้นทางใหม่ที่ไกลขึ้น โดยจะเปิดบินเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากล่าสุดเพิ่งเปิดจุดบินไปยังเมืองกูวาฮาติ ประเทศอินเดียไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างมากทั้งจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนอินเดีย รวมทั้งยังมองถึงการเปิดเส้นทางใหม่ๆ ไปยังเมืองจีนที่หัวเมืองรอง เพิ่มเติมจากปัจจุบันนกแอร์ ทำการบินในประเทศอยู่ 22 จุดบินและเส้นทางระหว่างประเทศ 9 จุดบิน

 

‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’  กางแผนฟื้น‘นกแอร์’

 

ทั้งนี้นโยบายของนกแอร์จากนี้ จะไม่บินเข้าไปในเส้นทางหลักที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะเราจะไม่แข่งขันในเรื่องของราคา แต่เราจะเอาคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย พฤติกรรมการเดินทางของนักเดินทางที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจากนี้รูตบินในประเทศต้องเปลี่ยนใหม่ เราบินแบบเดิมเราขาดทุนตลอด เพราะปัจจุบันคู่แข่งเยอะมาก ทำให้ต่อไปเส้นทางบินในประเทศเราจะมุ่งทำการบินข้ามภาคซึ่งกำลังศึกษาจุดบินอยู่ เช่น สนามบินดอนเมือง-หาดใหญ่-เบตง ส่วนในต่างประเทศ จะไม่บินเมืองหลัก แต่จะมุ่งเมืองรอง โดยเน้นบินช่วงกลางคืน

วันนี้นกแอร์นำฝูงบินเก่าออก นำเครื่องใหม่เข้ามา ซึ่งต้องเพิ่มอย่างน้อย 2 ลำ อย่างปีนี้เพิ่ม 2 ลำแล้ว ปีหน้าก็จะเพิ่มอีก อย่างน้อย 2 ลำ ในการเพิ่ม ผมคำนวณถึงหน้าโลว์ซีซั่นและไฮซีซั่น เพื่อสัมพันธ์กับดีมานด์ผู้โดยสาร โดยผมได้รับความร่วมมือจากบริษัทแห่งหนึ่งในการให้เราเช่าเครื่องมาบิน 6 เดือนช่วงไฮซีซัน พอหน้าโลว์ซีซันที่เราลดเที่ยวบินเขาก็จะเช่าเครื่องบินของนกแอร์ไป

 

 

เพิ่มรายได้อื่นนอกจากขายตั๋ว 30%

นอกจากนี้เราก็มองการเพิ่มรายได้อื่นๆนอกเหนือจากการขายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งนกแอร์ยังทำรายได้จากส่วนนี้ได้เพียง 8-12% ขณะที่สายการบินอื่นๆ รายได้อื่นๆ จะอยู่ที่ 20-30% เราจึงเห็นโอกาสในการหารายได้เพิ่มจากส่วนนี้ โดยการจัดทำโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงแรม เพื่อหาโรงแรมที่อยู่ในแต่ละอำเภอในเส้นทางที่นกแอร์ ทำการบินเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อให้ผู้โดยสารจองพักในราคาที่ถูกกว่าปกติ และการดึงกลุ่มด้านรถเช่าเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย

ขณะนี้กำลังทำดาต้าเบส ซอฟต์แวร์ต่างๆ แอพพลิเคชันที่จะลิงก์เข้าหาเว็บไซต์ของนกแอร์ ซึ่งคาดว่าการเพิ่มรายได้อื่นๆจะเห็นผลในช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ อีกทั้งยังมองในเรื่องของกิจกรรมต่างๆทั้งในร่มและกลางแจ้ง ในการดึงมาร่วมเป็นพันธมิตร ในการขยายรายได้อื่นๆเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกแพ็กเกจและเลือกจองได้

การหารายได้อื่นๆเข้ามาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการแข่งขันที่สูงมาก อย่างเส้นทางบินในประเทศ เรามีต้นทุนของตั๋วหากวัดที่เคบิน แฟกเตอร์ราว 80% ต้องขายตั๋วราคาไม่ตํ่ากว่า 1,600 บาทต่อเที่ยวถ้าขายตํ่ากว่านี้คือขาดทุน แต่บางเส้นทางอย่างอุบลราชธานี วันนี้เราก็ขายตํ่ากว่า ไม่ได้ขึ้ราคา บางเที่ยวบินก็ต้องลดราคาลงด้วย ทำให้เราเลยต้องหารายได้ตัวอื่นเข้ามา

 

 

สต๊อกอะไหล่เองลดคอสต์ 50%

ส่วนแผนในการลดค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาเมื่อก่อนเราว่าจ้างบริษัทมาทำเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยานให้ แต่เมื่อผมเข้ามาดูพบว่าอะไหล่ต่างๆ มีแพงกว่าราคากลางมากกว่า 30% วันนี้นกแอร์ตัดสินใจตั้งทำสต๊อกอะไหล่ขึ้นมาเอง ทำให้ลดตัวกลางไปได้ 30-50% หรือมากกว่า 30% การลดค่าใช้จ่ายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีการปรับเปลี่ยนเวลาทำงานของพนักงานให้สัมพันธ์กับผู้โดยสาร ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนก็ให้ทำงานเพิ่มจาก 4 วันเป็น 5 วัน ส่วนช่วงผู้โดยสารน้อย ก็ลดพนักงานในช่วงเวลานั้นลงไป ไม่ได้มีแผนลดจำนวนพนักงานนกแอร์ แต่มองว่าจะเพิ่มขวัญกำลังใจให้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ภาพรวมของนกแอร์ ที่เราเดินหน้าทั้งหมดน่าจะทำให้ไตรมาส 4 ปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น มีผลประกอบการที่ดีขึ้น เพราะสิ่งที่ผมทำไว้น่าจะเริ่มเห็นผล ตอนนี้เรายังไม่มีแผนเพิ่มทุนอีก เพราะวงเงินกู้ 3 พันล้านบาทที่ได้มา เราใช้ไปบางส่วนราวกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งในส่วนของนกแอร์ และการเพิ่มทุนในนกสกู๊ต ที่เราก็ต้องรอดูแผนธุรกิจของนกสกู๊ตในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยว่าเขาต้องเพิ่มเครื่องบินอีกหรือไม่

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของนกแอร์ ภายใต้ซีอีโอคนใหม่

สัมภาษณ์ :  ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’  กางแผนฟื้น‘นกแอร์’