แนวโน้มศก.เอเชียชะลอตัว เอดีบี เตือนไทย 2ปัจจัยเสี่ยง

30 ก.ย. 2562 | 05:45 น.

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงเติบโตได้ดี ถึงแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากการค้าและการลงทุนที่เบาบางลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 3% และ 3.2% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ

 

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2562 ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook หรือ ADO 2019) ซึ่งเป็นรายงานภาวะเศรษฐกิจฉบับหลักของเอดีบี คาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย 45 ประเทศว่า จะเติบโตที่ 5.4% ในปีนี้ และ 5.5% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมในเดือนเมษายน (5.7% และ 5.6% ตามลำดับ) สาเหตุจากแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ค่อยสดใส เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลี และไทย ปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ หากไม่นับรวม เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ซึ่งได้แก่ ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโตที่ 6% ในปีนี้ และปีหน้า (2563)

รายงานระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินต่อไปในปี 2563 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกหลักๆ อาจได้รับผลกระทบเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนในเอเชีย แรงผลักดันทางการค้าที่อ่อนตัวลงและการลงทุนที่ลดตํ่าลงจะเป็นข้อกังวลหลัก ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในเอเชียต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มศก.เอเชียชะลอตัว เอดีบี เตือนไทย 2ปัจจัยเสี่ยง

หากเจาะเป็นอนุภูมิภาคต่างๆ ในเอเชีย แนวโน้มการเติบโตมีความหลากหลาย  การชะลอตัวของการค้าโลกประกอบกับการลดลงอย่างเฉียบพลันของวงจรการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยฉุดให้การคาดการณ์เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ลดตํ่าลง โดยเอดีบีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ 6.2% ในปีนี้ และลดลงสู่ระดับ 6% ในปีหน้า ในขณะที่เอเชียตะวันออกโดยรวมคาดว่าจะเติบโตที่ 5.5% ในปี 2562 และ 5.4% ในปี 2563 ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ในปีนี้ และ 4.7% ในปีหน้า

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราน้อยลงกว่าที่เอดีบีเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยปรับลดลงจาก 3.9% มาอยู่ที่ 3.0%  แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่การส่งออกและการลงทุนที่อ่อนแอกว่าคาดเป็นตัวฉุดให้ GDP เติบโตลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

ส่วนปีหน้า (2563) เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมากระเตื้องขึ้น โดยขยายตัวอยู่ที่ 3.2% (ลดตํ่าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.7%) ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับตํ่าที่ 1% ทั้งในปีนี้และปีหน้า เช่นเดียวกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากประมาณการครั้งก่อน

 

นายฮิเดอากิ อิวาซากิ ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย และ นายเทียม ฮีอึง เศรษฐกรอาวุโส ประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้ความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยว่า หลักๆมีอยู่ 2 สิ่งซึ่งได้แก่ การดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐที่ล่าช้า ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร นอกจากนี้เงินบาทของไทยยังแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่แล้ว

 

“สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ไม่มีใครสามารถประเมินได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากและเป็นวงกว้าง ในระยะสั้นเราอาจเห็นว่าไทยได้รับอานิสงส์จากการโยกย้ายฐานการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานออกจากจีนมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย หรือแม้แต่การปรับย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯออกมาก็มี ดังสะท้อนให้เห็นจากยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจากกลุ่มทุนจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แต่มองในระยะยาว สงครามการค้าย่อมไม่เป็นผลดีกับใครเลยเพราะมันส่งผลสั่นคลอนความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลก และยังทำให้การค้าขายระหว่างประเทศชะลอตัวลงด้วย” เศรษฐกรอาวุโสของเอดีบีกล่าว

 

อย่างไรก็ตามเขามองว่า ปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยหลักมาจากบรรดาโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่จะทยอยเดินเครื่องอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเจรจาและทำสัญญาต่างๆ ในปีนี้ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3509 ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562