จับสัญญาณ แบงก์ชาติจัดทัพ ‘ดับไฟหนี้ครัวเรือน’

28 ก.ย. 2562 | 01:00 น.

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย  โดย ธีรวรรณ อิศรางกูร ณ อยุธยา

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับตำแหน่งโครงสร้างองค์กรใหม่ รวม 8 ตำแหน่ง โดยสลับปรับเปลี่ยนสายงานด้วยกัน 6 ตำแหน่ง และเป็นการเลื่อนตำแหน่งขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งการปรับครั้งนี้ มีการเพิ่มตำแหน่งใหม่ขึ้นมา คือ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 จากเดิมมีเพียงตำแหน่ง สายกำกับสถาบันการเงิน 1 เท่านั้น

หากดูขอบเขต สายกำกับสถาบันการเงิน จะเห็นว่ามีหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์และติดตามฐานะการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินบริษัทบริหารสินทรัพย์ Non-bank กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์กำกับดูแลตรวจสอบและวิเคราะห์ติดตามสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลรวมทั้งการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

การเพิ่มตำแหน่ง สายกำกับสถาบันการเงิน 2 สะท้อนว่าสายงานดังกล่าว เป็นสายงานที่มีความสำคัญของธปท. สอดคล้องกับภาพที่ธปท.ทยอยออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินมากขึ้น ตั้งแต่หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมไปถึงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และการส่งสัญญาณเข้าไปตรวจสอบการปล่อยและควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อ การคำนวณภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) หรือการเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทยร่วมมือการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) เป็นการสะท้อนสายงานที่น่าจะเป็นหัวใจหลักของธปท.

 

จับสัญญาณ แบงก์ชาติจัดทัพ ‘ดับไฟหนี้ครัวเรือน’

 

แต่หากย้อนมาดูจากโครงสร้างการปรับองค์กรใหม่ทั้ง 8 ตำแหน่ง สิ่งที่น่าสังเกต คือ การปรับตำแหน่งของนางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ถูกปรับให้มาดูแล สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนา องค์กร และเลื่อนตำแหน่งให้ นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ มาเป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สาย นโยบายสถาบันการเงิน

 

นอกจากนี้ ยังเลื่อนตำแหน่งให้ นางธัญญนิตย์นิยมการ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน มาเป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ตำแหน่งที่ตั้งใหม่

ส่วนที่มีการสลับหน้าที่และสายงานดูแล ประกอบด้วย นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร เป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวางแผนและงบประมาณ เป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร นายวรพร ตั้งสง่า-ศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนา องค์กร เป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารงานปฏิบัติการ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน เป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร เป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกฎหมาย ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

 

การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ นับเป็นความต่อเนื่องอีกระลอก หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของผู้ว่าการธปท. “วิรไท สันติประภพเจ้าของสโลแกนจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลามได้ปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2557 ภายหลังจากคณะกรรมการ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเป็นประธานบอร์ดในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ถัดมาในปี 2559 ธปท.ปรับโครงสร้างองค์กรอีกครั้ง ทั้งจัดตั้งสายงานใหม่และปรับเปลี่ยน ตัวบุคคล ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อปรับการทำ งานของธปท.ให้ทันสมัยตอบรับกับความท้าทาย ใหม่ๆ รวมทั้ง การประกาศดูแลจุดเปราะบางของเศรษฐกิจในอนาคต โดยเพิ่มสายงานระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงการแยกสายงานดูแลตรวจสอบด้านไอทีของสถาบันการเงินและให้นํ้าหนักการตรวจสอบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น และฝ่ายประเมินความเสี่ยงและจำลองสถาบันการเงิน หรือ Stress Test เพื่อทดสอบแบบจำลอง และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันการเงิน

 

                         จับสัญญาณ แบงก์ชาติจัดทัพ ‘ดับไฟหนี้ครัวเรือน’