กาง 3 ยุทธศาสตร์พาณิชย์เพิ่มยอดส่งออก

27 ก.ย. 2562 | 01:20 น.

สรรเสริญชี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน เฟืองทุกตัวต้องหมุนพร้อมกัน ชูยุทธศาสตร์เน้นเร่งรายได้จากล่างขึ้นบน บนลงล่าง และแสวงหาจากอนาคต ระบุมาตรการประกันราคาฯ ให้ประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรมากกว่า 19 ล้านคน มั่นใจรัฐบาลพาเศรษฐกิจไทยพ้นภาวะถดถอยสู่ความก้าวหน้า

กาง 3 ยุทธศาสตร์พาณิชย์เพิ่มยอดส่งออก

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยหลายสำนักทางเศรษฐกิจปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 ลงมาโดยลำดับ จากเดิมคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.8% ปรับลงมาสู่ 3.3% ขณะที่บางสำนักคาดการณ์เหลือ 2.8%  ซึ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความไม่แน่นอนของเบร็กซิท (Brexit) ส่งผลให้การส่งออก การลงทุนชะลอตัว และโยงมาถึงเศรษฐกิจภาพรวมในที่สุด

ทั้งนี้  จากสถานการณ์ดังกล่าวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลคือ ฟันเฟืองทุกตัวต้องหมุนไปพร้อมกัน จะหวังให้กระทรวงการคลังอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ประกันราคาสินค้าเกษตร กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาเร่งรัดดึงนักท่องเที่ยว เปรียบเหมือนเฟืองทุกตัวต้องหมุนไปพร้อมกัน  เมื่อรายได้ของประชาชนมากขึ้น ก็จะเงินนำไปซื้อสินค้าที่ภาคธุรกิจผลิตได้มากขึ้น เมื่อรายได้ของภาคธุรกิจเพิ่ม จะทำให้การจัดซื้อวัตถุดิบ การจ้างงาน และการขยายกิจการสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลงานด้านเศรษฐกิจหลายมิติ เช่น ราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาธุรกิจยุคใหม่ให้เจริญก้าวหน้า

กรอบภารกิจดังกล่าวนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยพร้อมเพรียงกันเหมือนเฟืองทุกตัวหมุนไปพร้อมๆ กัน โดยกำหนดแนวทางหลักไว้ 3 ประการคือ หนึ่ง สร้างรายได้จากฐานรากหรือจากล่างขึ้นบน สอง สร้างรายได้จากบนลงล่าง และสาม การมองไปที่อนาคต

ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อไปอีกว่า หนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างรายได้จากฐานรากที่กระทรวงฯกำลังขับเคลื่อนอยู่เวลานี้คือ นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ยางพารา น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลักการของการประกันราคาสินค้าเกษตรคือ ต้นทุนทั้งหมดรวมกำไรที่เกษตรกรพึงได้หักด้วยราคาตลาด มีส่วนต่างเท่าไหร่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคารับประกัน  โดยการประกันราคาข้าวเปลือกล็อตแรกจะถึงมือเกษตรกร ในวันที่ 15 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เฉพาะในส่วนประกันราคาข้าวเปลือก มีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 3.9 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งมีสมาชิก 3-3.5 คน คิดแล้วเป็นประชากรที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 11.48 ล้านคน ส่วนปาล์มน้ำมัน เงินประกันล็อตแรกจะถึงมือเกษตรกรในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีพี่น้องเกษตรกรรับประโยชน์ 300,000 ครัวเรือน ยางพารา เงินประกันล็อตแรกออก 15 ตุลาคม นี้เช่นกัน มีเกษตรกรรับประโยชน์ 1.1 ล้านครัวเรือน ส่วนมันสำปะหลัง และข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดเกณฑ์ในการรับประกัน

สำหรับมาตรการประกันราคาพืชผล 3 ตัวแรก คือ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีเกษตรกรรับประโยชน์ 5.3 ล้านครัวเรือน หรือราว 19 ล้านคน  โดยเป้าหมายของกระทรวงฯคือ ยกระดับเกษตรกรฐานรากให้ขึ้นมา จากเดิมก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินรายได้เกษตรกรจะเพิ่ม 3.5% ถึง 3.8% ในปีนี้ หากรวมนโยบาย 2 พืชหลักที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่ารายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 4% การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ จะแปรเป็นรายได้มาซื้อสินค้าของไทย

กาง 3 ยุทธศาสตร์พาณิชย์เพิ่มยอดส่งออก

                นอกจากนี้ กระทรวงฯยังมีนโยบายพลิกฟื้นโชห่วยที่มีอยู่มากกว่า 4 แสนราย ให้เป็นสมาร์ทโชห่วย ให้สามารถแข่งขันในตลาดกับโมเดิร์นเทรดและการค้าออนไลน์ โดยกระทรวงจะสนับสนุนเรื่องรูปลักษณ์ การจัดวางผังในร้าน โปรแกรมบัญชี สต็อกและจะนำสินค้าจากชุมชนโอท็อปที่มีอยู่ทั่วประเทศกระจายผ่านโชห่วย

ดร.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นโยบายลำดับสอง ที่กระทรวฯดำเนินการคือ ทำเรื่อง บนลงล่าง หรือจากผู้ประกอบการลงมา เรื่องแรกที่ทำคือ เร่งรัดส่งออก ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเก่า ต่อจากนี้ไปทูตพาณิชย์ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศ โดยให้ทูตพาณิชย์ต้องค้นหาให้ได้ว่า ประเทศที่ตัวเองไปประจำอยู่นั้น จะขายสินค้าอะไรได้ ขายให้ใคร และใช้วิธีอย่างไร พร้อมกับให้ศึกษาว่าสินค้าของไทยแตกต่างจากสินค้าคู่แข่งหรือไม่อย่างไร

“ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ นำคณะผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชนเดินทางไปประเทศจีน และสามารถจับคู่ทำสัญญาขายมันสำปะหลังจำนวน 2.68 ล้านตันมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาส่งมอบ 1 ปี รูปแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นกับสินค้าอื่นและหลายประเทศ นอกจากนี้ การขยายตลาดส่งออกชายแดนและการค้าแบบผ่านชายแดนก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์พยายามขยายตลาดเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันการค้าผ่านช่องทางดังกล่าวมีสัดส่วนราว 9% ของปริมาณส่งออกรวม โดยจะขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนการส่งออกคล่องตัวมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกที่ทำในระดับนโยบายคือการค้าระหว่างประเทศ เรื่องใหญ่สุดคือ เขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป มีอาเซียน 10 ประเทศบวก 6 ประเทศคือจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์รวม 16 ประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่เพราะรวมแล้วเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก ประชากรรวม 3,500 ล้านคน อาร์เซป ต้องเร่งเจรจา หากเจรจาจบเราจะได้ตลาดการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกพร้อมกับขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าอื่นที่ค้างท่ออยู่ อาทิ เขตการค้าเสรีกับอียู ศรีลังกา ตรุกี ศรีลังกา ปากีสถาน หากทุกการเจรจาจบจะเพิ่มยอดส่งออกให้ประเทศไทย

กาง 3 ยุทธศาสตร์พาณิชย์เพิ่มยอดส่งออก

ด้านนโยบายกลุ่มที่สาม คือ ภาคธุรกิจต้องก้าวไปข้าวหน้าให้ทันกับยุคเศรษฐกิจทันสมัย ไบโออีโคโนมี (เศรษฐกิจชีวภาพ) กรีนอีโคโนมี (เศรษฐกิจสีเขียว) แชรริ่งอีโคโนมี (เศรษฐกิจแบ่งปัน) ครีเอทีฟอีโคโนมี (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) กระทรวงพาณิชย์จะเป็นกลไกให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้น พร้อมกับเร่งผลักดันสินค้าท้องถิ่นที่มีแหล่งกำเนิดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกรมหาศาล เช่น ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ ฯลฯ สินค้าเหล่านี้รอขึ้นทะเบียน และกระทรวงให้การบ้านพาณิชย์จังหวัด หาสินค้าในแต่ละจังหวัดมาจดทะเบียน โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดรถเคลื่อนที่ไปให้บริการจดทะเบียนถึงที่