โชว์นวัตกรรม พลอยจากอัฐิ สายใยรักรูปแบบใหม่

30 ก.ย. 2562 | 03:55 น.

แม้จะสำเร็จการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม  แต่ “ภัสสร  ภัสสรศิริ” ก็ไม่ได้เลือกที่จะทำตามความฝัน โดยหันเหตนเองเข้ามาศึกษางานจากคุณพ่อ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเตาเผาขยะ และเตาเผาศพแบบไร้มลพิษ  เพราะเห็นว่าคุณพ่อเริ่มมีอายุมากขึ้นเกรงว่าหากไปทำงานในแบบที่ชอบแล้วจะกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้านไม่ทัน ซึ่งเมื่อทำไปทำมาก็เริ่มสนุกและไม่ได้หวนย้อนกลับไปบนเส้นทางสถาปัตยกรรมอีกเลย

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่

 

นวัตกรรมหลอมพลอย

ภัสสร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมโมรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ บ.เจมโมรีส์ฯ ถือเป็นธุรกิจที่ 3 ของตนแล้ว โดยเกิดมาจากการต่อยอดธุรกิจของครอบครัวจากเตาเผาขยะและเตาเผาศพ มาสู่การทำธุรกิจฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร  และนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมทำพลอยขึ้นมาจากอินทรียสาร เช่น กระดูก อัฐิ เส้นผม สายสะดือ ฯลฯ ของบุคคล  หรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก  ซึ่งเสียชีวิตลง เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกเวลาที่คิดถึงบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงนั้น โดยที่ธุรกิจทั้ง 3 ก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือของบริษัทกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัย  และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นชื่อใหม่ในปัจจุบัน โดยทำการค้นคว้าและวิจัยอยู่ถึง 2 ปี และใช้เงินลงทุนไปกว่า 8 หลักกว่าจะประสบความสำเร็จ  ซึ่งเป็นการหลอมพลอยจากคาร์บอน โดยเป็นการต่อยอดผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทยท่านหนึ่ง ซึ่งนำฟางข้าวมาเผาเพื่อนำแคลเซียมและคาร์บอนมาหลอมเป็นพลอย  

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่

หลังจากนั้น จึงเริ่มสำรวจความต้องการของผู้บริโภคในตลาดว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวนี้หรือไม่  โดยเริ่มจากการทำของสัตว์เลี้ยงก่อน เนื่องจากไม่ต้องการเข้าไปแตะต้องพิธีทางศาสนาของคน และไม่มั่นใจว่าผู้บริโภคจะมีความต้องการให้นำอัฐิมาทำเป็นพลอย หรือของที่ระลึกเก็บไว้หรือไม่ ซึ่งกระแสตอบรับก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก จนนำไปสู่อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจดังกล่าวมาสู่คน โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตเข้ามาติดต่อให้ทำให้  แต่ตนไม่ได้รับทำให้ตั้งแต่แรก แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะยืนยันว่าไม่ถือ เพราะบริษัททำแต่ของสัตว์เลี้ยง

“เมื่อปฏิเสธกลับไปแล้ว ตนเองที่รู้สึกผิดที่ไม่รับทำให้ เพราะเราเข้าใจดีว่าผู้ที่อยากได้นั้นต้องการให้ทำจริงๆ เราเลยเกิดความมั่นใจว่าคนที่อยากได้ก็มี เราเลยสร้างเตาหลอมของคนขึ้นมาเพื่อตอบรับ แม้จะยังไม่รู้เลยว่าจะมีผู้ตอบรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องถูกบันทึกเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ และทำแบบเคสบายเคส มีการประชุมเกือบ 1 ปีกว่าจะทำเป็นธุรกิจออกมาได้”

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่
 

สร้างวัฒนธรรมใหม่

ภัสสร บอกต่อไปอีกว่า บริษัทพยายามทำราคาให้ไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน เพราะมองว่าเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจต้องการให้เป็นวัฒนธรรมในไทย เสมือนเป็นการร่วมกับลูกค้าไม่ใช่การหวังผลกำไรมากแล้วได้ลูกค้าแค่กลุ่มหรือ 2 กลุ่มเท่านั้นไม่ใช่การตลาดที่กระจายได้เร็ว โดยจะเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต้องมีการทดลองใช้ และมีการบอกต่อ  ซึ่งถือว่าเป็นการทำตลาดแบบเงียบที่ไม่ใช่การลงโฆษณา แต่เป็นการกระทำจริง เพื่อรอให้ลูกค้าได้ไปบอกต่อ

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่

ปัจจุบัน บริษัทมีการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์  และมีหน้าร้าน หรือแล็บ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ส่วนการทำตลาดในระยะต่อไป บริษัทจะดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อจัดการประกวดออกแบบ เรื่องความผูกพันสายใยแห่งรัก โดยบริษัทจะเลือกผลงานที่มีความเป็นไปได้ทางการตลาด  และมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างสวยงาม ซึ่งจะเป็นการทำตลาดไปด้วยในตัว โดยที่นักศึกษาจะได้รู้จักบริษัทและต้องการมาสมัครงาน หรือใช้บริการของบริษัท เรียกว่าเป็นการทำตลาดตั้งแต่รุ่นกำลังศึกษา โดยที่บริษัทจะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมมือกับวัดในกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง  เพื่อมอบพลอยที่ทำจากอัฐิให้กับครอบครัวที่จองศาลาสวดศพ  โดยให้ครอบครัวนั้นบริจาคเงินเข้าวัดจำนวนเท่าใดก็ได้  ซึ่งจะมีแบบตอบรับให้เลือกว่าจะรับหรือไม่ให้ลูกค้าได้รู้จักกับบริษัท และรู้ว่ามีบริการในรูปแบบดังกล่าว โดยมองว่าผลตอบรับที่ได้มีความคุ้มค่า ซึ่งครอบครัวหนึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการแค่เม็ดเดียวและมีการสั่งเพิ่ม  โดยผลตอบรับที่ได้ถือว่าค่อนข้างไปได้ดี หลังจากนั้นจึงจะทำการขยายไปสู่วัดอื่นต่อไป และต่อยอดไปวัดในพื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองขนาดใหญ่

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่

“เราคำนวณแล้วว่าการจ่ายโฆษณา 3 ล้านบาทให้บริษัทหนึ่งมาทำตลาดให้  กับการเสียจำนวนเท่ากันให้คนที่ไม่ได้ซื้อแต่แรกได้ไปฟรีๆ  จะรับหรือไม่ก็แล้วแต่ความต้องการ การแจกมีผลสูงมาก  เพราะหนึ่งได้ทดลองใช้ แล้วปากต่อปากจะได้เปอร์เซ็นต์สูง เทียบแล้วดีกว่าการทำโฆษณา ซึ่งคนอาจเคยชินกับการโปรโมตผ่านเฟซบุ๊กแต่ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นการใช้ชีวิตจริงที่ไม่ได้โฆษณา ดังนั้นจึงควรออกมาเป็นรูปแบบนี้  เสมือนเป็นการให้ความรู้กับทางวัดด้วยว่ามีการจัดเก็บอัฐิรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ”

 

ร่วมมือบริษัทประกันชีวิต

ภัสสร บอกอีกว่า บริษัทมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิต ในการสั่งทำผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากมองว่าผลิตภัณฑ์จะมีราคาที่สูงขึ้นตามตัวเรือนของวัสดุที่จะนำมาเชื่อมต่อกับพลอย เช่น ทองหรือเงิน อีกทั้งยังค่าแรงของการเจียระไนพลอยที่จะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา  ดังนั้น  จึงต้องมีบริการสั่งซื้อล่วงหน้าดังกล่าว เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 7-8 หลัก ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของตลาดนั้น  เชื่อว่ายังมีอีกมากจากสภาพของสังคมในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่จำนวนอัฐิเริ่มมีมากขึ้น  ซึ่งสถานที่เก็บในรูปแบบเดิมที่วัดเริ่มไม่เพียงพอ  ผู้บริโภคก็จะหันมาใช้บริการของบริษัทมากขึ้น  

“อีกประมาณ 5 ปีประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนประเพณีหลายอย่าง เช่น  ขนาดของครอบครัวที่เล็กลง  การเก็บอัฐิในสถูปหรือเจดีย์เริ่มมีราคาสูงขึ้น หรือสถานที่เก็บเริ่มเต็ม  อัฐิมีมากขึ้นและเริ่มเกิดปัญหาในการดูแล ซึ่งมีให้เห็นแล้วจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยต้องการรูปแบบการจัดเก็บที่สะดวก  หรือบางครอบครัวไม่ได้มีปัญหาแต่ต้องการทำขึ้นเพื่อเป็นคุณค่าทางจิตใจ  ขณะที่ปัจจุบันการใช้บริการก็เริ่มขยายไปสู่การนำเส้นผม  หรืออวัยวะอื่นของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่มาจัดทำ เพื่อให้พกพาติดตัวไปได้ทุกที่” 

เรื่อง : นิธิโรจน์  เกิดบุญภานุวัฒน์  ภาพ : สุกฤษฏ์  สืบสาย

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

โชว์นวัตกรรม  พลอยจากอัฐิ  สายใยรักรูปแบบใหม่