จีนพัฒนาคนอย่างไร จึงต่อสู้กับความท้าทาย ของโลกได้ (จบ)

29 ก.ย. 2562 | 09:05 น.

การปรับปรุงที่ไม่สิ้นสุด ... จริงจังและต่อเนื่อง

ในระยะหลัง รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงระบบ และปฏิรูปหลักสูตร รวมทั้งผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรีด้านการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และประสิทธิภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาโดยลำดับ จนอาจกล่าวได้ว่า ระบบการศึกษาจีนในยุคหลังเต็มไปด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคมโลก เราจึงเห็นสถาบันการศึกษารูปแบบและหลักสูตรใหม่ๆ ผุดขึ้นในจีนอย่างต่อเนื่อง 

สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจหลายแห่งมีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิญกูรูเฉพาะด้านชั้นนำของโลกมาเป็นอาจารย์และวิทยากรพิเศษ การผสมผสานภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าด้วยกันเสมือนการปฏิบัติงานจริง และการ

กระตุ้นทางความคิดที่เป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ โดยนักศึกษาจะต้องนำเสนอสินค้าต้นแบบและคุณสมบัติที่ออกแบบขึ้นแก่คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ประจำวิชา นักออกแบบ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะคล้ายกับการพิตช์งาน (Pitch) กับกองทุนต่างๆ เลย และได้รับโอกาสในการเก็บเกี่ยวคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการต่อไป

โดยวิธีการดังกล่าว ทำให้การทำโครงการของแต่ละวิชานำไปสู่การซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือการร่วมลงทุนทางธุรกิจเลยก็มี ซึ่งเท่ากับว่านักศึกษาบางคนที่มีความคิดในสินค้าต้นแบบที่สร้างสรรค์อาจกลายเป็น “เถ้าแก่น้อย” ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาเสียด้วยซํ้า

นอกจากนี้ จีนยังได้เปิดให้สถาบันการศึกษาเอกชนและต่างชาติ รวมทั้งผู้สอนและตำราเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษาและการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้การศึกษาของจีนมีความเป็นสากลและคุณภาพที่สูงขึ้น จนทำให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง อันส่งผลให้ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาศึกษาต่อในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลังนี้

ปัจจุบัน จีนสามารถดึงดูดนักเรียนนักศึกษาของต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในจีนถึงราว 500,000 คนต่อปี และโรงเรียนอินเตอร์บางแห่งยังมาพร้อมกับคุณลักษณะของหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีๆ ของโลก และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อมุ่งเป้าดึงดูดเด็กมีพรสวรรค์ที่เป็นจีนโพ้นทะเลและของต่างชาติให้มาศึกษาต่อในจีน ทำให้เด็กจีนได้เรียนลัดในเรื่องความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีมุมมองความคิดเห็น และบรรยากาศในชั้นเรียนที่มีคุณภาพและความหลากหลายยิ่งขึ้น

 

• ต่อยอดด้วยไอทีและดิจิทัล 

  สู่อนาคตของจีน

ปัจจุบัน จีนกำหนดแนวทางการศึกษารูปแบบใหม่

ที่มุ่งเน้น 5 ด้านอันได้แก่ “STEAM” (Science-Technology-Engineering-

Arts-Mathematic) ไปพร้อมๆ กัน โดยประยุกต์ใช้กับทุกระดับการศึกษา จีนเล็งเห็นถึงผลประโยชน์และศักยภาพทางเศรษฐกิจในหลายด้าน และมองว่าหลายสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน ดั่งเช่นที่อัลเบิร์ต ไอสไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” จีนจึงพยายามผสมผสานแต่ละด้านให้ลงตัวเพื่อไม่ให้แข็งกระด้างเกินไป

ขณะที่ไทยเราเปิดให้นักเรียนเลือกสายการเรียนวิทย์-ศิลป์ในระดับมัธยมฯ ปลาย แต่จีนในวันนี้เริ่มคัดเด็กเรียนสายวิทย์ตั้งแต่ระดับอนุบาลกันแล้ว โดยในปี 2559 รัฐบาลจีนได้ต่อยอดโครงการสวนวิทยาศาสตร์ด้วยการนำร่องเปิดโรงเรียนอนุบาลวิทยาศาสตร์ 

“จื้อตี้” (Zhidi) ขึ้นที่กรุงปักกิ่งเป็นแห่งแรกในโลก

จีนกำลังเดินหน้าไปสู่โลกดิจิทัลอย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้นำเอาระบบไอทีและดิจิทัลมาต่อยอดในการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบและรูปธรรม จีนน่าจะเป็นชาติแรกในโลกที่บรรจุตำราเรียนและวิชาหุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในระดับประถมฯ ถึงอุดมศึกษา แถมเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่สัมผัสได้อีกด้วย เช่น นักเรียนระดับประถมฯ ได้ถอดและประกอบหุ่นยนต์ และสัมผัสกับอุปกรณ์แต่ส่วนจริง แม้กระทั่งการออกแบบชุดคำสั่งหุ่นยนต์ ทำให้เกิดความเข้าใจในอุปกรณ์แต่ละชิ้นส่วนอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่

พอโตขึ้นหน่อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนก็สนับสนุน “สนามทดลอง” ด้วยการสร้างเวทีในการจัดประกวดแข่งขันหุ่นยนต์ แผนธุรกิจของสตาร์ตอัพ และอื่นๆ สารพัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเหล่านี้พัฒนาทักษะความรู้นอกตำราเรียน และรู้สึกสนุกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้โลกอย่างเป็นรูปธรรม

เราเห็นสถาบันการศึกษาของจีนนำเอาระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ มาช่วยในการตรวจสอบการเข้าออกสถานศึกษาและห้องเรียน ติดตามพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในห้องเรียน เช่น พูดคุย นั่งหลับ ใช้โทรศัพท์มือถือ และมีรายงานสรุปให้อาจารย์ผู้สอนเพื่อใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นเตือนหรือตัดคะแนนความใส่ใจในการเรียน แม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียนการสอนของจีนก็พัฒนาก้าวไกลไปมาก อาทิ กระดานดำดิจิทัลเพื่อการสอนเขียนแบบ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อการพัฒนาสินค้าต้นแบบ Bottom of Form

จีนผลักดันให้สถาบันการศึกษาเดินหน้าจัดทำโครงการ “ค่ายฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์” (Science Training Camp) ระยะสั้นแบบ 1-2 สัปดาห์ โดยดึงเอาอาจารย์จากสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องชั้นนำของจีนมาร่วมมือกัน หลายหลักสูตรยังสอดแทรกหัวข้อการพัฒนาความสามารถด้านภาษาและคณิตศาสตร์ควบคู่กันไป

นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการฝึกงานและสั่งสมประสบการณ์ของนักเรียนนักศึกษาอย่างจริงจัง เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสแวะไปใช้บริการสนามบินนานาชาติที่เสินเจิ้น พอเดินไปที่ตู้เช็กอินอัตโนมัติของสายการบินหนึ่งก็สังเกตเห็นว่า นอกจากพนักงานต้อนรับสาวของสายการบินที่คุ้นตาแล้ว ก็มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อกั๊กสีแดงที่มายืนคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการเช็กอินอัตโนมัติ เมื่อได้รับบัตรประชาชนจากผู้โดยสารแล้ว เด็กเหล่านี้ก็เสียบบัตรและกดแป้นพิมพ์อย่างคล่องแคล่ว ไม่ถึง 1 นาทีบอร์ดิ้งพาสก็ออกมาแล้ว จากการสอบถามพบว่าเด็กเหล่านี้อายุ 10-14 ปีและมาฝึกงานในช่วงปิดเทอม

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นด้วยกับผมว่า โลกอนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่ แต่ทำอย่างไรคนรุ่นเราจะร่วมแรงร่วมใจเร่งเตรียมคนแห่งอนาคตของไทยเพื่อเผชิญกับความท้าทายของโลกได้อย่างแท้จริง ...

 

ผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : 

 

ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

จีนพัฒนาคนอย่างไร  จึงต่อสู้กับความท้าทาย  ของโลกได้ (จบ)