ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์ ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

27 ก.ย. 2562 | 06:05 น.

       เอกซเรย์ค้าปลีกไตรมาส 4 ฝ่ามรสุมปัจจัยลบ ทุนใหญ่คาดมาตรการชิม ช้อป ใช้ กระตุ้นการจับจ่ายในระบบคึกคัก ลุ้นรัฐบาลชง “ช็อปช่วยชาติ” แรงส่งปลุกกำลังซื้อส่งท้ายปี ด้านสมาคมค้าปลีก ยํ้ารีเทลไทยโตตํ่าสุดในอาเซียน

       ไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซันของหลายธุรกิจ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก เพราะเป็นช่วงแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาแห่งการจับจ่าย ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนและทำรายได้เป็นสัดส่วน 30-40% ของรายได้ทั้งปี ท่ามกลางปัจจัยลบมากมายทั้งในและนอกประเทศ ทำให้สถานการณ์ค้าปลีกในไตรมาส 4 ปีนี้จะมีผลเป็นบวกหรือลบอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวม 4 ความคิดเห็นของ 4 ผู้บริหารในแวดวงค้าปลีกมานำเสนอ

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

หนุนรัฐจัดช็อปช่วยชาติ

       นางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไตรมาส 4 นี้เชื่อว่าภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจรีเทลจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยบวกกระตุ้นเศรษฐกิจในระบบ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายดีขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เม็ดเงินการจับจ่ายจะหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

       ทั้งนี้ไตรมาส 4 ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่ผู้ประกอบการรีเทลต้องพยายาม ทำทุกกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์ของแต่ละผู้ประกอบการจะต้องแตกต่างกันไป โดยในส่วนของท็อปส์เองก็เตรียมแคมเปญใหญ่ในโค้งสุดท้ายและกิจกรรมทางการตลาดไว้เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

        “มองว่าแคมเปญใหญ่หรือกิจกรรมทางการตลาดในโค้งสุดท้ายเป็นสิ่งที่แต่ละผู้ประกอบการจะต้องทำอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่มีการจัดขึ้นในช่วงนี้ เบื้องต้นบริษัทเข้าร่วมแน่นอนและอยู่ระหว่างการมองหาทำเลที่มีศักยภาพในการเข้าร่วม การปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐ”

        ทั้งนี้ประเมินว่าจากเม็ดเงินที่ภาครัฐอัดฉีดเข้ามาในมาตรการชิม ช้อป ใช้ จะสามารถกระตุ้นการเติบโตได้ช่วงหนึ่ง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการเติบโตโดยรวมในช่วงโค้งท้ายนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายทั้งหมดของภาครัฐว่าจะมีมาตรการอะไรกลับเข้ามาไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากให้ภาครัฐมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะมาตรการช็อปช่วยชาติ

        “ในฐานะรีเทลเลอร์มองว่า มาตรการลดหย่อนภาษีหรือช็อปช่วยชาติที่จัดต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายในช่วงโค้งท้ายได้เป็นอย่างดี และหากจะมีการจัดอีกครั้งในช่วงปลายปีจะเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายหรือการจับจ่ายของประชาชนให้คึกคักมากขึ้น โดยมองว่าอยากให้มีการจัดขึ้นอีกในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและช่วยให้ประชาชนที่เสียภาษีได้มีการประหยัดมากขึ้น”

         อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทเองมั่นใจว่าแนวโน้มการเติบโตในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ขณะที่ภาพรวมตลาดทั้งปีก็มั่นใจว่าจะเติบโตกว่าปีที่ผ่าน หรือเติบโตที่ 12% ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

 

อัดโปรแรงกระตุ้นยอด

        นางวรวรรณ เพียรลิขิตวงศ์ ประธานกรรมการฝ่ายการตลาด เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซันของธุรกิจ และเป็นโมเมนตั้มที่ส่งผลต่อภาพรวมค้าปลีก ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังมีการเติบโตที่ดี ทั้งจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่จัดชิม ช้อป ใช้ ที่ส่งผลดีต่อธุรกิจ และแคมเปญที่จัดขึ้นเอง ซึ่งอยู่ในช่วงที่เทสโก้ โลตัสจัดฉลองครบรอบ 25 ปี จึงจัดโปรโมชันใหญ่ 2 รายการคือ โปรช็อคน็อคราคา ลดราคาสินค้าทุกหมวดหมู่กว่า 20 รายการต่อสัปดาห์ในแบรนด์ชั้นนำหมุนเวียนกัน และสินค้าติดดาว นำสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเกือบ 400 รายการมาจำหน่ายในราคาตํ่ากว่าที่อื่น

         นอกจากนี้ยังมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของเทสโก้ โลตัสเอง ที่จะมาใช้เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า โดยบริษัทเตรียมพัฒนาสินค้าใหม่อีกกว่า 1,000 รายการโดยจะทยอยออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ด้วย

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

นักช็อปพรีเมียร์ยังเติบโต

ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูล-สินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า ภาพรวมตลาดค้าปลีกในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้น ขณะที่ไตรมาส 4 บริษัทเชื่อว่าสถานการณ์การช็อปปิ้งยังเป็นไปได้ด้วยดีเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซัน ประกอบกับปีนี้รัฐบาลได้ทำแคมเปญต่างๆขึ้นน่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศได้บ้าง ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาบริษัทพบว่ากลุ่มลูกค้าระดับบน หรือ Top ของกลุ่มสินค้าแต่ละประเภทยังเติบโต

“จากข้อมูลสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ได้คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศ ไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ขณะที่กลุ่มลูกค้า CLMV ก็กำลังมาแรงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเห็นได้จากแนวโน้มการช็อปปิ้งของประเทศในกลุ่ม CLMV ที่เพิ่มขึ้นโดยลูกค้ากลุ่มนี้ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 5% ขณะเดียวกันเซ็นทรัลเวิลด์นับเป็นจุด Landmark ที่สำคัญหากมีงานใหญ่จะมีทราฟฟิกลูกค้าเข้ามาไม่ตํ่ากว่า 1.5 แสนคนและเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แบ่งเป็นลูกค้าต่างชาติ 30% โดยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด”

 

คาดโตตํ่าสุดในอาเซียน

          นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตในช่วงไตรมาส 4 นี้ ยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากจะประเมิน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบสัญญาณบวกใดๆในภาคธุรกิจและการส่งออก ซึ่งโดยส่วนตัวประเมินว่าในช่วงไตรมาส 4 นี้ ภาพรวมการเติบโตของจีดีพีค้าปลีกจะมีการเติบโตถึง 3% หรือไม่ หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรับลดเป้าจีดีพีค้าปลีกลงเหลือ 3% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัว

         “ปีนี้ทางผู้ประกอบการรีเทลมีการปรับเป้าจีดีพีค้าปลีกลงเหลือ 3% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยลบด้านสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน”

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

          ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาของภาครัฐในช่วงนี้ประเมินว่าเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นระยะสั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การให้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อัดฉีดเงิน 3 แสนล้านบาทเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการใช้เงินเพียงรอบเดียวไม่ช่วยให้ห่วงโซ่เศรษฐกิจขับเคลื่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นควรแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ ด้านกำแพงภาษีโดยลดอัตราภาษีนำเข้าเพื่อให้คนไทยซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีมากกว่าการผูกขาดเพียง 1 ราย เป็นต้น

ทุนค้าปลีกลุ้นอานิสงส์  ชิมช้อปใช้ ดันยอดขายไตรมาส4พุ่ง

        อย่างไรก็ตามประเมินว่าปีนี้คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยเติบโตที่ 2-3% ตํ่าสุดในตลาดอาเซียนที่เติบโตเฉลี่ย 9-10% ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยด้านสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีการลดค่าเงินหยวน และเงินบาทแข็งค่า ทำให้กระทบภาคส่งออกที่ปกติเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจประเทศเกิดสภาวะชะลอตัว 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3508 ระหว่างวันที่ 26 - 28  กันยายน 2562