ตอบรับ‘ชิมช้อปใช้’ หุ้นค้าปลีกคึกคัก

26 ก.ย. 2562 | 00:00 น.

โบรกฯเผยลงทะเบียนรับสิทธิ์ “ชิมช้อปใช้” วันแรกล้นหลาม หุ้นกลุ่มค้าปลีกตอบรับ ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมหนุนกำลังซื้อประชาชนช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ในโครงการชิม ช้อป ใช้ วันละ 1 ล้านสิทธิ์ รับเงินเที่ยวรายละ 1,000 บาท โดยลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-15 พฤศจิกายน 2562 และสามารถใช้จ่ายจริงผ่าน “แอพพลิเคชันเป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนวันแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 นั้น ทำให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีก โรงแรม และกลุ่มบริการ ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น โดยได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างล้นหลาม

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ ส่งผลดีต่อหุ้นค้าปลีก โดยเฉพาะ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS) จากการที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน หลังจากเศรษฐกิจไทยปี 2562 ชะลอตัวชัดเจน โดยภาคการส่งออก 8 เดือนปีนี้ลดลงเฉลี่ย 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในวันแรกของการเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการดังกล่าว พบว่ามีกระแสตอบรับจากประชาชนอย่างดี สะท้อนจากจำนวนผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ เต็มจำนวนที่กำหนด 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งกระแสตอบรับมาตรการชิม ช้อป ใช้ที่ดีดังกล่าวข้างต้น ทำให้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ รวมถึงดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัว ผ่านการให้เงินอุดหนุนการท่องเที่ยวแก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนคนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปท่องเที่ยว และใช้จ่ายค่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าบริการสปา, ค่าเช่าพาหนะ, ค่าบริการนำเที่ยว (ไกด์) ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562

ตอบรับ‘ชิมช้อปใช้’ หุ้นค้าปลีกคึกคัก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จก. กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของรัฐบาล ที่ออกมาตรการชิม ช้อป ใช้ คือการกระจายรายได้ไปทุกภาคส่วน โดยในส่วนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดทุนอาจจะได้รับเม็ดเงินส่วนนี้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าปลีกทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในบจ. ทั้งนี้มองว่าผลบวกจากมาตรการนี้จะเกิดกับเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคในระบบมากขึ้น

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส จก. ระบุว่า มาตรการชิม ช้อปใช้ เป็นประโยชน์กับหุ้นค้าปลีก และอาหาร เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC), บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (HMPRO), บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M), บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ZEN), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF), บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG), บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) และ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มโรงแรม เพราะหุ้นโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดฯ มีสัดส่วนลูกค้าที่เป็นคนไทยเพียง 10% แต่ 90% พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมองว่าการฟื้นตัวของโรงแรมจะมาพร้อมกับนักท่องเที่ยวมากกว่า

ด้านบล.ไทยพาณิชย์ฯ ระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ มีจำนวน 11 แห่ง คือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC), บริษัท แอลดีซี เด็นทัล จำกัด (มหาชน) (LDC), บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS) เฉพาะบางสาขา, บริษัท สยามเวลเนส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (SPA), บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) (VRANDA), บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) (TNP), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI), บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH) และบริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) (SAFARI) 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3508 ระหว่างวันที่ 26 - 28  กันยายน 2562