กำจัดจุดอ่อน ประกันรายได้

25 ก.ย. 2562 | 04:05 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3508 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.2562 


กำจัดจุดอ่อน
ประกันรายได้


          สถานการณ์ราคาตลาดข้าวและปาล์มนํ้ามัน ยังเป็นทิศทางราคาขาลง โดยเฉพาะหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบการประกันรายได้ปาล์มนํ้ามันและข้าว แม้ไม่อาจวิเคราะห์ได้โดยตรงว่าสาเหตุของราคาตลาดตกตํ่าเกิดจากนโยบายประกันรายได้ แต่นโยบายนี้มีส่วนสำคัญให้การดำเนินการผ่านไปช่วงหนึ่งราคาตลาดจะถูกกดตํ่ากว่าราคาเป็นเกณฑ์เป้าหมายประกันรายได้
          สถานการณ์ราคาปาล์มล่าสุดที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 2.90-3.10 บาทต่อกก. โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายถึง 1 บาทต่อกก. ส่วนราคาข้าวกลุ่มข้าวเปลือกเจ้าชนิด 5% ความชื้น 15% เคยสูงสุดกว่า 8,000 บาทต่อตัน ปัจจุบันปรับลดราคาลงเหลือ 7,600 -7,800 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดความชื้นกว่า 25% ราคาโดยเฉลี่ย 6,500-6,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาเคยสูงสุด 1.9-2.2 หมื่นบาทต่อตัน ปัจจุบันราคาข้าวเหนียวเกี่ยวสดความชื้นกว่า 30% ปรับลงมาเหลือ 1.3 -1.35 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งราคานี้รัฐบาลอาจต้องสูญเสีย
งบประมาณในการจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกรสูงมากกว่าที่ประมาณการงบประมาณไว้

          การนำนโยบายประกันรายได้มาใช้ โดยกำหนดเพียงแค่ราคาเป้าหมายเพียงอย่างเดียวนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียกับพืชเกษตรชนิดนั้นมากกว่าได้ โดยฝ่ายผู้ผลิตมีหลังพิงในแง่ส่วนต่างราคาที่สามารถเบิกจากรัฐบาลได้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจำกัดผลผลิตเพื่อสร้างสมดุลให้กับตลาด การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ การพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก จะเป็นปัญหาตามมาที่ย้อนทวนกลับไปสู่ความอ่อนแอของระบบการผลิตเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา
          สถานการณ์ราคาที่ตกตํ่าลงขณะนี้ ทั้งที่ประมาณการผลผลิตและผลผลิตจริงที่เข้าสู่ตลาดลดลง อาจเป็นความไม่ปกติ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบ มีการจงใจกระทำร่วมกันให้ราคาแตกต่างไปจากปกติหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะต้นทางของนโยบายประกันรายได้พืชเกษตร ต้องไล่หาต้นตอสาเหตุของราคาตลาดปาล์ม ข้าวที่ตกตํ่าลงโดยเร็ว
          เราเสนอให้รัฐบาลโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทบทวนนโยบายประกันรายได้โดยเร่งด่วน โดยใช้มาตรการอื่นเข้ามาผสมผสานกับการกำหนดราคาเป้าหมายชดเชยส่วนต่าง ทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตร พิจารณานำระบบประกันราคามาใช้ สนับสนุนให้มีเฮดจิ้งฟันด์คอยแทรกแซงราคา เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างการผลิต แผนการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร รวมทั้งหาช่องทางในการกำหนดราคาตลาดที่แท้จริงให้ได้ ก่อนที่นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรของรัฐบาล จะสร้างความอ่อนแอให้กับภาคการผลิตและสูญเสียงบประมาณไปเกินความจำเป็นมากกว่านี้