โยกซื้อ AWC ฉุดหุ้นอสังหาร่วง 4%

26 ก.ย. 2562 | 00:40 น.

โยกเงินเข้าซื้อหุ้น AWC ฉุดหุ้นกลุ่มอสังหาต้นเดือนก.ย. เป็นต้นมา ปรับลงกว่า 4% แนะเป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้นแกร่ง ปันผลดี โดยเฉพาะกลางสัปดาห์หน้า หลังกลุ่มสถาบันปรับพอร์ตเข้าซื้อ AWC วันที่ 1-3 ต.ค.นี้ บล.เอเซีย พลัสฯ ชู 8 หุ้นเด่น LH QH ORI SC ANAN SPALI SENA AP กสิกรไทยมั่นใจผลประกอบการ Q3 ดีขึ้นก่อน พีก Q4

การเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดใหญ่ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” คือ บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 6.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 48,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรเสนอขายทั้งสิ้น 6,957 ล้านหุ้น (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น) ขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) วันที่ 25-27 กันยายน และขายให้กับนักลงทุนสถาบันในวันที่ 1-3 ตุลาคม 2562 ก่อนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้มีนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและในต่างประเทศในรูป Cornerstone 13 สถาบันได้ตกลงจองซื้อไว้แล้วจำนวน 3,454 ล้านหุ้น คิดเป็นจำนวน 50% ของจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขาย (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่าการที่ AWC ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 1.92 แสนล้านบาท (ณ ราคาไอพีโอที่หุ้นละ 6 บาท) หรือมีมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นอันดับที่ 19 คิดเป็นสัดส่วน 1.1% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด โดยหลังจากหุ้น AWC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ในหมวดอสังหา ฯ จะกดดันหุ้นในกลุ่มอสังหาฯแกว่งตัวผันผวนระยะสั้น เนื่องจาก AWC มีมาร์เก็ตแคปในกลุ่มอสังหาฯประมาณ 18% เป็นรองจากบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 3 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 29% ของกลุ่มอสังหาฯที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

โยกซื้อ AWC ฉุดหุ้นอสังหาร่วง 4%

ทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา (MTD)หุ้นกลุ่มอสังหาฯ (มี 56 บมจ.) ปรับตัวลดลงแล้ว 4% เทียบกับดัชนีหุ้นไทยปรับลง 1.13% และสวนทางหุ้นตลาดโลกที่ปรับขึ้นราว 3% สาเหตุเนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมีการปรับพอร์ตไปก่อนหน้า โดยขายหุ้นอสังหาฯตัวอื่นออกเพื่อจะเข้าซื้อ AWC โดยหุ้นกลุ่มอสังหาฯที่ปรับลดลงสูงสุดได้แก่ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ PACE ลดลง 22.22 %, บมจ.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) ลดลง 21.88%, บมจ.เนอวานา ไดอิ (NVD) ลดลง 15.97% บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ลดลง 13.0%, บมจ.กรีน รีซอร์สเซส (GREEN) ลดลง 11.83% และบมจ. ศุภาลัย (SPALI) ลดลง 10.2% ฯลฯ

“ราคาหุ้นอสังหาฯที่ปรับลดลง มาจากการปรับพอร์ตเพื่อเข้าซื้อหุ้น AWC แต่ Valuation ของหุ้นกลุ่มนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พื้นฐานยังดี และจ่ายเงินปันผลตอบแทนค่อนข้างดี จึงเป็นจังหวะที่นักลงทุนจะเข้าซื้อสะสมเพื่อหวังผลตอบแทนระยะกลางถึงยาว” นายภราดร กล่าวและว่า

แม้ราคาหุ้นกลุ่มนี้จะปรับตัวลงตามการปรับพอร์ตของรายย่อยที่เตรียมเข้าซื้อหุ้น AWC ในวันที่ 25-27 กันยายนนี้ก็ตาม แต่ยังมีโอกาสที่จะเข้าซื้อหุ้นอสังหาฯราคาถูกได้อีก โดยเฉพาะในช่วงกลางสัปดาห์หน้าเป็นจังหวะเหมาะสมเพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนสถาบันเตรียมปรับพอร์ตเพื่อเข้าซื้อหุ้นAWC ตั้งแต่วันที่ 1-3 ตุลาคม ผลประกอบการหุ้นกลุ่มอสังหาฯได้ผ่านจุดตํ่าสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 2 และจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ก่อนพีกในไตรมาส 4”

หุ้นที่บล.เอเซีย พลัสฯ แนะนำ “ซื้อ” ได้แก่ บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH), บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH), บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.ศุภาลัย (SPALI) , บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) และบมจ. เอพี (ไทยแลนด์) (AP) โดยเลือก TOP PICK เป็น LH เนื่องจากมีโปรดักต์หลายประเภท สามารถกระจายความเสี่ยง จ่ายปันผลตอบแทนสูง และ SPALI มีแนวโน้มเติบโตดี และจ่ายปันผลในอัตราสูงถึง 6% (ตารางประกอบ)

ด้านนายสรพงษ์ จักรธีรังกูร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” คาดการณ์ผลประกอบการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/2562 ภายใต้การศึกษาของบล.กสิกรไทยฯ 9 แห่ง (AP, LH, LPN, ORI, PSH, QH, SC, SIRI และ SPALI) จะปรับดีขึ้นจากไตรมาส 2 (QoQ) ทั้งในแง่ยอดขายและรายได้ แต่ปรับลดลง YoY อย่างไรก็ดี อัตราเติบโตอาจไม่แรงมาก โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯใหม่หลายแห่ง มียอดขายในช่วงเปิดตัวตํ่ากว่า 10% ทำให้ผู้ประกอบการต้องทบทวนโครงการที่จะเปิดในช่วงที่เหลือของปี โดยอาจเลื่อนออกไป

“คาดว่าไตรมาส 3/2562 นี้จะโต QoQ แต่ลดลง YoY แต่จะพีกในไตรมาส 4/2562 เฉพาะ 9 บริษัทที่บล.กสิกรไทยฯดูแล ในไตรมาส 4 มี 24 โครงการมูลค่าร่วม 6 หมื่นล้านบาท มียอดขายประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 9 เดือนแรกมีโครงการเสร็จแล้วประมาณ 18 โครงการและมูลค่าที่สร้างเสร็จและขายได้ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเฉพาะไตรมาส 4 ไตรมาสเดียวมีมูลค่ายอดขาย 4 หมื่นล้านบาท กำไรน่าจะเห็นได้อย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ดีบล.กสิกรไทยฯ คาดกำไรรวมของบริษัทอสังหาฯทั้ง 9 แห่งในปีนี้จะติดลบ 2-3% และยอดขายคาดติดลบ 10% และปี 2563 มีโอกาสจะขยายตัวตํ่า เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยอมผ่อนผันเกณฑ์ซึ่งเป็นอุปสรรค หรือดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง แต่เทียบไม่ได้กับกำลังซื้อที่อ่อนแอ ขณะที่ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่น

เลือก 3 หุ้นเด่นคือ AP เนื่องจากยอดขายแนวราบยังดี ORI ยอดขายคอนโดฯยังดี สวนทางกับภาค รวมอสังหาริมทรัพย์โดยรวมและเริ่มขยายแนวราบมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนของโรงแรมซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง ขณะที่ LH มีฐานพอร์ต recurring income (รายได้ประจำ ) ค่อนข้างกว้าง และมีรายได้จากอื่นๆที่เข้ามาชดเชยในส่วนของเฮาซิ่งที่อ่อนลง 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3508 ระหว่างวันที่ 26 - 28  กันยายน 2562