ญี่ปุ่นทุ่ม 130 ล้าน ตั้งรง.กำจัดขยะไฮเทคนำร่อง ดึงลงทุนรีไซเคิลซาก 4 แสนตัน

28 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

กรอ.จับมือ NEDO ตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 130 ล้านบาท นำร่อง หวังเป็นต้นแบบโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต่อยอดดึงนักลงทุน สร้างธุรกิจจากซากผลิตภัณฑ์กว่า 4 แสนตันต่อปี

การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือด้านการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (NEDO) เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการรื้อฟื้นความร่วมมือกันอีกครั้ง จากเมื่อปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม เคยมีความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเตาเผาขยะขนาด 500 ตัน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า NEDO จะเป็นผู้สนับสนุนเตาเผาขยะ ขณะที่ผู้ประกอบการที่สนใจจะตั้งโรงงานจะต้องเป็นผู้ลงทุนติดตั้งเตาเผาและก่อสร้างโรงไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวต้องยุติลงไป เนื่องจากติดปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ

ในครั้งนี้ถือเป็นอีกโครง การหนึ่งที่ NEDO หวังจะให้เกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยของญี่ปุ่นมาใช้รีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ฯ โดยมีภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ บริษัท ABIZ Corporation เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานนำร่องในพื้นที่ของบริษัท ฮิดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลอยู่แล้ว โดยระหว่างวันที่ 24-28 กันยายนนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อหารือทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุน เวียน ที่เน้นการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

 

ญี่ปุ่นทุ่ม 130 ล้าน  ตั้งรง.กำจัดขยะไฮเทคนำร่อง  ดึงลงทุนรีไซเคิลซาก 4 แสนตัน

 

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ทาง NEDO ได้ขอสนับสนุนเงินงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI
เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นลงทุนในต่างประเทศวงเงินราว 130 ล้านบาท เพื่อศึกษาและลงทุนก่อสร้างโรงงานขนาดปริมาณกำจัดซากฯ 100 ตันต่อเดือน โดยบริษัท ABIZCorporation และบริษัท ฮิดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ ดังกล่าว เพื่อเป็นโครงการนำร่องหรือเป็นต้นแบบของธุรกิจรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้ที่สนใจจะลงทุน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการร่วมมือครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิล และผู้ประกอบการ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เพิ่มยิ่งขึ้น

 

ที่สำคัญจะเป็นการช่วยแก้ปัญหากำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น จากการแยกโลหะที่มีค่านำไปใช้งานต่อ และชิ้นส่วนที่เป็น อันตราย ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ ในประเทศไทย จะถูกส่งไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อการกำจัดที่เหมาะสม ซึ่งโรงงานนำร่องนี้จะเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2563

 ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์อยู่ราว 148 แห่ง ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 พบว่า มีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากชุมชน 4.14 แสนตัน และคาดว่าปี 2562 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก

ขยะอิเล็กทรอนิกส์หากจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ว่าการนำไปกองทิ้งในที่รกร้าง หรือจ้างชาวบ้านคัดแยก/เผา ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดมลพิษในวงกว้าง จึงควรมีการคัดเลือกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการรีไซเคิล

 

ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก โดยเฉพาะการรองรับปัญหาขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเกิดขึ้น และจากการเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2564 ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10,290-11,420 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 109.1-128.3% จากปี 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,920-5,000 ล้านบาท สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนในประเทศ

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

ญี่ปุ่นทุ่ม 130 ล้าน  ตั้งรง.กำจัดขยะไฮเทคนำร่อง  ดึงลงทุนรีไซเคิลซาก 4 แสนตัน