แบงก์รัฐ อุ้ม SMEs โดนพิษน้ำท่วม

26 ก.ย. 2562 | 05:00 น.

สถาบันการเงินของรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในพื้นที่นํ้าท่วม ธนาคารออมสินลุยผ่อนปรนการชำระหนี้  ด้าน ธสน. ช่วยทั้งที่กระทบทางตรงและทางอ้อม  ขณะที่ ธพว. ผุดสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมทั้งกลุ่มบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี (SMEs) ของธนาคารยังมีไม่มาก ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณนํ้าท่วมที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธนาคารเองก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยมีมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ ประกอบด้วย ระดับ 1 มีนํ้าท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ปี ขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระหนี้ 

ระดับ 2 มีนํ้าท่วมขังเกินกว่า 7 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง/ซ่อมแซม ให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และระดับ 3 ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย และลูกค้า(บุคคลธรรมดา)ได้รับผลกระทบที่พักอาศัย/สถานประกอบการเสียหายส่งผลให้รายได้ลดลง และ/หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธนาคารให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หลังจากนั้นให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 3 ปี และขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระหนี้ หรือ พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวสำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท  โดยมีระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น ลูกค้าสินเชื่อที่คำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาเงินกู้หรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่เกิน 20 ปี ส่วนกรณีคำนวณดอกเบี้ยแบบคงที่ ให้คำนวณเงินงวดตามคำสั่งธนาคาร โดยให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 เท่า ของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาเงินกู้หรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น

แบงก์รัฐ อุ้ม SMEs  โดนพิษน้ำท่วม

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ ธสน. กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่ได้รับผลกระทบมีไม่มาก  อย่างไรก็ดี  ธนาคารก็จะต้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง ซึ่งหมายถึง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ พื้นที่ของโรงงานและบริษัท รวมทั้งสินค้าที่ผลิตแล้วได้รับความเสียหาย ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือส่งออกได้ ดังนี้ 

1. ลูกค้าสินเชื่อหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว จะได้รับพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยลง 1% เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน แล้วแต่ผลกระทบของลูกค้า  2. ลูกค้าสินเชื่อหมุนเวียน จะได้รับการขยายระยะเวลาให้ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารอนุมัติ โดยรวมกับอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 360 วัน  และ 3. สามารถขอเงินกู้เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย ระยะเวลานาน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก และพิจารณาตามความเหมาะสมในปีต่อไป

และผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม หมายถึงผู้ประสบปัญหาโรงงานผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบผลิตสินค้า หรือผู้ซื้อหลักอยู่ในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้กับรายอื่นทดแทนได้ รวมทั้งประสบปัญหาการคมนาคม ไม่สามารถส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อหรือไม่สามารถรับวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์เพื่อมาผลิตสินค้าได้ จะได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ดังนี้  1. ลูกค้าสินเชื่อหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยลง 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และ 2. ลูกค้าสินเชื่อหมุนเวียน จะได้รับขยายระยะเวลาให้ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารอนุมัติ โดยรวมกับอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 180 วัน

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า  ธพว. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมของ ธพว. ทั้งกลุ่มบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ได้รับความเสียหาย ได้มีเงินทุนไปใช้ฟื้นฟูและหมุนเวียน ดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ผ่อนสูงสุด 5 ปี  ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี โดยให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้  

1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท  และ 3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. คํ้าประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท

สำหรับเอสเอ็มอีทั่วไป มีสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน  ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กลุ่มเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน เอสเอ็มอีใหม่มีนวัตกรรม ค้าส่งค้าปลีก โชวห่วย ร้านค้าชุมชน และร้านธงฟ้า เป็นต้น ระยะเวลากู้ยืมนานสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายช่วง 3 ปีแรก ดอกเบี้ย 0.417% ต่อเดือน จากนั้นปีที่ 4-7 อัตรา MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3 ปีแรก 0.25% ต่อเดือน จากนั้นปีที่ 4-7 อัตรา MLR ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อ Transformation Loan เสริมแกร่ง ช่วยให้เอสเอ็มอี มีทุนใช้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น รถเครน รถโม่ปูน เรือขุดเจาะ เป็นต้น ดอกเบี้ย 0.333% ต่อเดือน ตลอดระยะกู้ยืมนานสูงสุด 7 ปี 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

แบงก์รัฐ อุ้ม SMEs  โดนพิษน้ำท่วม