คพ. เร่งตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียกระทบจากน้ำท่วม

24 ก.ย. 2562 | 08:35 น.

 

 

คพ. ติดตามสำรวจระบบบําบัดน้ำเสียที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วม เผยยังมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอยู่ 2 แห่ง ที่เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า    จากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และอิทธิพลพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกําลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม - ปัจจุบัน ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 32 จังหวัด (อํานาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลําภู ยโสธร กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร อุดรธานี ชัยภูมิ สุรินทร์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ตราด เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แพร่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน ลําปาง เลย สุโขทัย ชุมพร กระบี่ ระนอง) ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และมอบหมาย คพ. ติดตามสำรวจระบบบําบัดน้ำเสียที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วม

คพ. เร่งตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียกระทบจากน้ำท่วม

นายประลอง กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวมีระบบบําบัดน้ำเสียที่ได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตําบล     วังทอง จังหวัดพิษณุโลก เทศบาลตําบลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้วในพื้นที่เทศบาลตําบลวังทอง เทศบาลตําบลโกสุมพิสัย และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอยู่จำนวน 2 ระบบ คือเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

คพ. เร่งตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียกระทบจากน้ำท่วม

นายประลอง กล่าวอีกว่า จังหวัดอุบลราชธานีที่มีน้ำท่วมหนัก สถานการณ์ปัจจุบันระบบบําบัดน้ำเสียได้รับผลกระทบ  น้ำท่วมทั้งหมดไม่สามารถเดินระบบได้ ต้องรอตรวจสอบเมื่อน้ำลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ ได้แก่ ระบบบําบัดน้ำเสียเทศบาลนครอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่บ้านแสนตอ บริเวณด้านหลังวังบูรพา ตําบลในเมือง อําเภอเมือง มีเนื้อที่ 110 ไร่ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียเป็นแบบบ่อเติมอากาศ (Aerated Lagoon : AL) สามารถรองรับน้ำเสียได้ 22,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) โดยมีน้ำเสียเข้าระบบในภาวะปกติ 15,000 ลบ.ม./วัน ประกอบด้วยบ่อบำบัดน้ำเสียจำนวน 2 บ่อ ได้แก่ สระเติมอากาศ ความจุ 247,000 ลบ.ม. และ บ่อบ่ม ความจุ 59,600 ลบ.ม. จำนวน 1 บ่อ และระบบรวบรวมน้ำเสียมีสถานีสูบน้ำเสียจำนวน 2 สถานี บริหารจัดการโดยองค์การจัดการน้ำเสีย

คพ. เร่งตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียกระทบจากน้ำท่วม

และระบบบําบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองวารินชําราบ ตั้งอยู่บริเวณชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชําราบ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ ทั้งหมด 200 ไร่ เป็นระบบบ่อผึ่ง (Stabilization Pond : SP) สามารถรองรับน้ำเสียได้ที่ 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีน้ำเสียเข้าระบบในภาวะปกติ 8,500 ลบ.ม./วัน ประกอบด้วยบ่อบำบัดน้ำเสียจำนวน 3 บ่อ ได้แก่ บ่อที่ 1 ความจุ 131,537 ลบ.ม. บ่อที่ 2 ความจุ 93,580 ลบ.ม. และบ่อที่ 3 ความจุ 121,997 ลบ.ม. และระบบรวบรวมน้ำเสียมีสถานีสูบน้ำเสียจำนวน 4 สถานี หน่วยงานรับผิดชอบดูแลระบบบำบัดน้ำเสียและเดินระบบ คือ ส่วนช่างสุขาภิบาล สำนักการช่างเทศบาลเมืองวารินชำราบ

 

การดำเนินงานของ คพ. ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ เพื่อตรวจสอบความเสียหายของระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดทำรายละเอียดเสนอของบประมาณ เพื่อเร่งซ่อมแซมระบบฯ ของระบบบำบัดน้ำเสียที่มีความเสียหาย ให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว

คพ. เร่งตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียกระทบจากน้ำท่วม