“หม่อมเต่า”เคาะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก.พ.63

24 ก.ย. 2562 | 06:12 น.

“รมว.แรงงาน”คาดปรับขึ้นค่าจ้างก.พ.63  ชี้ต้องดูตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจ สั่งสำรวจความเห็นนายจ้าง-ลูกจ้างในอนุกกฯจังหวัด  ระบุ 46 จังหวัดไม่เสนอขึ้นค่าแรง

“หม่อมเต่า”เคาะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก.พ.63


วันที่ 24 ก.ย.2562 ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เตรียมจัดงาน "วันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day” ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า ตนรับฟังเสียงของผู้ใช้แรงงาน ที่เรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งต้องดูตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งตนขอดูภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 รวมทั้งต้องดูตัวเลข GNP (Gross National Product ) มูลค่าเบื้องต้นของผลผลิตที่เกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตของชาติในรอบหนึ่งปี นอกจากนี้ต้องดูภาพรวมในด้านของผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ น่าจะเป็นในช่วงเดือน ก.พ.2563

 

“โซลูชั่นของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะเป็นช่วงเดือนก.พ.2563 แต่ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นด้วย อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในอดีตยังทำได้เลย เมื่อผมนั่งอยู่ตำแหน่ง รมว.แรงงานผมก็อยากจะรู้เรื่องราว พยายามที่จะศึกษาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นการปรับอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 225 เปอร์เซนต์ เกิดผลกระทบเสียหายอย่างมากมายในวงกว้าง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดูอย่างรอบด้าน” ม.ร.ว.จัตุมงคล

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้มีการสำรวจความคิดเห็นของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการส่งจดหมายพร้อมกับซองเปล่า และแสตมป์ 770 ฉบับเพื่อสอบถามความคิดเห็นว่าควรปรับค่าจ้างขั้นตำหรือไม่ หากมีการปรับ ตัวเลขที่เหมาะสมจะอยู่ในสัดส่วนใด เนื่องจากตนต้องการทราบข้อมูลจริงๆ และต้องการให้ผู้ตอบเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนายจ้างหรือลูกจ้าง ทั้งนี้ข้อมูลที่เราได้รับกลับมานั้นเราจะไม่ทราบว่าบุคคลที่ตอบกลับมานั้นเป็นใครในอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ทราบเพียงแต่ว่าเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างเท่านั้น

 

“ตัวแทนลูกจ้างที่อยู่ในบอร์ดค่าจ้างจังหวัด หลายคนมักเป็นลูกจ้างฝ่ายบัญชี หรือฝ่ายบุคคล ที่ค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับนายจ้าง และบางส่วนกลัวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกับการขึ้นราคาสินค้า ตลอดจนผลกระทบของการเลิกจ้าง ซึ่งในส่วนของ 46 จังหวัดไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

 

เมื่อถามว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีหน้ามีเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลมาบีบให้ดำเนินการหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า "ตอนนี้ไม่มีใครมากดดัน เขาคงปล่อยให้ผมเอาคอขึ้นเขียงไปก่อน อย่างไรก็ดีตอนที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 19 คนมาร่วมร่างนโยบายรัฐบาล ก็ไม่ได้มีการพูดถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเลย"