ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับการว่างงาน

25 ก.ย. 2562 | 04:10 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

 

เป้าหมายหลักประการหนึ่งของการพัฒนาประเทศ คือการก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และโดยทั่วไปการขยายตัวของเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยการเติบโตของศักยภาพการผลิตซึ่งขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพซึ่งวัดได้จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชาชน

ดังนั้น ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่าในระยะยาวจะสะท้อนถึงมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่า โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพื้นฐานแล้ว ได้แก่ การทำลายเชิงสร้างสรรค์ (creative destruction) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยโจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่าทุนนิยมสังคมนิยมและประชาธิปไตย

โดยแนวคิดการทำลายเชิงสร้างสรรค์เป็นรากฐานการอธิบายที่มาของการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ นั่นคือ แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือการที่มีความคิดสร้างสรรค์สำหรับสินค้าใหม่ แนวทางใหม่ในการผลิตสินค้า หรือนวัตกรรมถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าและบริการใหม่ที่ดีกว่าและทันสมัยกว่า จึงทำให้สินค้าและบริการแบบเก่าหายไป วิธีการใหม่ที่ใช้ในการผลิตจำเป็นต้องอาศัยทักษะและความชำนาญใหม่ ทำให้ทักษะแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ เนื่องจากหมดประโยชน์หรือหมดความนิยมลง

ในปัจจุบันขบวนการทำลายเชิงสร้างสรรค์มีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technologies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของอินเตอร์เน็ตซึ่งคือเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ อาทิเช่น มือถือแบบเดิมถูกแทนที่โดยสมาร์ทโฟน การโฆษณาช่องทางแบบเดิมๆ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และแม็กกาซีน จะถูกแทนที่โดยสื่อ online หรือ social media การทำธุรกรรมทางการเงินก็สามารถทำได้โดยใช้ online banking เป็นต้น

ตั้งแต่ในอดีตเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้รับการต่อต้านเนื่องจากคนงานกังวลว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะคุกคามและมาทดแทนหน้าที่การงานและก่อให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นศตวรรษ 1900 ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มคนงานในอุตสาหกรรมทอผ้าได้ทำลายเครื่องจักรใหม่ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อตำแหน่งงานโดยตรง และได้ออกมาประท้วงตามถนนเนื่องจากเครื่องจักรได้ถูกใช้เพื่อทดแทนแรงงาน

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  กับการว่างงาน

 

การเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงมักจะถูกตำหนิว่าเป็นต้นเหตุของการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ดังนั้น คำถามสำคัญในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทำให้มีการผลิตมากขึ้นอย่างเพียงพอที่จะไม่ทำให้การจ้างงานลดลงหรือไม่

ในการวิเคราะห์ผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อการว่างงานในระยะสั้นช่วงเวลา 1-5 ปี จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของศักยภาพการผลิตต่ออุปสงค์ เนื่องจากในระยะสั้นการผลิตจะขึ้นกับความต้องการสินค้าและบริการ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ การมีเทคโนโลยีใหม่หรือการนำนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจที่สูงขึ้นในอนาคต

 

เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตที่สูงขึ้น ประกอบกับความจำเป็นในการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ ทำให้บริษัทมีการลงทุนที่สูงขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและมองว่าเศรษฐกิจจะดีในอนาคตทำให้การบริโภคสูงขึ้น ประกอบกับการที่บริษัทมีการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดอุปสงค์มวลรวมหรือความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการผลิตมากขึ้นและนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีการแข่งขันระหว่างภาคธุรกิจและการแข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องพยายามลดต้นทุนและลดขนาดของบริษัทลง ซึ่งจำเป็นต้องใช้การลงทุนเพียงเล็กน้อยหรือไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ ประกอบกับความกังวลของคนงานต่อความไม่แน่นอนของการจ้างงาน ทำให้การบริโภคลดลง นำไปสู่การลดลงของผลผลิตและกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้นผลกระทบต่อการว่างงานในระยะสั้นจึงไม่แน่นอน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจนำไปสู่การลดลงของการว่างงาน แต่ในขณะเดียวกันอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการว่างงานได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะพบว่า ในระยะสั้น การเติบโตของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะมีความสัมพันธ์เชิงบวก แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจมีการขยายตัว

กล่าวโดยง่ายๆ คือ ในระยะสั้นบริษัทให้ความสำคัญต่อผลประกอบการเมื่อผลประกอบการดีหรือมีกำไรแล้ว บริษัทจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ขณะที่ในระยะปานกลางคือช่วงเวลา 5-10 ปี เศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ระดับธรรมชาติ ดังนั้นคำถามต่อมาคือการเปลี่ยนแปลงของศักยภาพการผลิตจะส่งผลต่ออัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติอย่างไร

ในระยะปานกลาง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยไปลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะทำให้บริษัทตั้งราคาสินค้าที่ตํ่าลง และเมื่อคนงานกับบริษัทคาดว่าจะมีศักยภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้น แต่การคาดการณ์การเติบโตของศักยภาพการผลิตของคนงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ หรือต้องใช้เวลาสำหรับการคาดการณ์ในการปรับตัวสู่ค่าที่แท้จริง

ผลการวิเคราะห์ทั้งจากทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การว่างงานลดลงหรือมีการจ้างงานมากขึ้น ในช่วงของการชะลอตัวของศักยภาพการผลิตทำให้คนงานยังคงเรียกร้องค่าจ้างที่สูง เนื่องจากคาดว่าศักยภาพการผลิตยังสูงอยู่ แต่บริษัทไม่สามารถตอบสนองค่าจ้างที่สูงได้ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ในช่วงเวลาที่ศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บริษัทจึงมีความสามารถและเต็มใจที่จะจ่ายค่าจ้างที่สูงและสูงกว่าค่าจ้างที่คนงานต้องการเนื่องจากการคาดการณ์ศักยภาพการผลิตของคนงานยังไม่สูง จึงทำให้อัตราการว่างงานลดลง เห็นได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแท้จริงแล้วจะช่วยทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง

ดังนั้น ความกังวลเกี่ยวกับการว่างงานจึงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นในระยะยาว การพัฒนาทางเทคโนโลยีคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนของการสร้างงานและการสูญเสียงาน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีเนื่องจากมีสินค้าใหม่ที่มีราคาถูกลงและมีให้เลือกมากขึ้น

 

สำหรับคนงานที่มีการศึกษาสูง มีทักษะและความชำนาญที่ตรงกับความต้องการ หรืออุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด การพัฒนาทางเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ และค่าตอบแทนที่ได้จากอุตสาหกรรมเหล่านี้จะสูง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่กำลังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือคนงานที่มีการศึกษาตํ่าและมีทักษะการทำงานที่ล้าสมัย ช่วงเวลาของการพัฒนาทางเทคโนโลยีหมายถึงช่วงเวลาของการสูญเสียงานและโอกาสที่จะได้ค่าจ้างลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

คนงานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ตลอดอาชีพได้ทำงานกับบริษัทเดียวและมีทักษะเฉพาะบางอย่างซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทนั้น การสูญเสียงาน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ทักษะที่มีอยู่ลดคุณค่าลงอย่างมากและจะทำให้ค่าจ้างลดลง

เมื่อได้งานใหม่ ไม่ว่าจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวหรือถดถอย คนงานอาจมีความยากลำบากสำหรับการว่างงานที่ยาวนานและได้ค่าจ้างที่ตํ่าลงจากงานใหม่ที่ได้ ผลก็คือการพัฒนาทางเทคโนโลยีบ่อยครั้งจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันเห็นได้จากกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือการพัฒนาทางเทคโนโลยี

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  กับการว่างงาน