เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”

23 ก.ย. 2562 | 10:47 น.

เอกชน-นักวิชาการหนุนไทยเร่งเจรจาFTA กับอียู ชี้หากช้ายิ่งเสียเปรียบเวียดนามและสิงคโปร์ที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้วมากขึ้น ขณะผลการศึกษาระบุช่วยดันจีพีดีไทยขยายตัว 2.5 แสนล้านบาทต่อปี รถยนต์ ชิ้นส่วน สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง รับอานิสงส์

 

ในงานสัมมนาโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยและสหภาพยุโรปหรือเอฟทีเอ ไทย-อียู ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน(วันที่ 23 ก.ย.2562)มีความเห็นที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ไทยจะเร่งฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียูที่หยุดชะงักมานานกว่า 5 ปี

เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”

 

นายทวีชัย  เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เผยว่า ผลการศึกษาโครงการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู พบว่า หากไทยมีเอฟทีเอกับอียู จะส่งผลให้จีดีพีประเทศขยายตัว 1.7 % หรือ 250,000 ล้านบาทต่อปี โดยภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนขยายตัวประมาณ 65,000 ล้านบาท สิ่งทอขยายตัว 39,000 ล้านบาท อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 35,000 ล้านบาท เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก ขยายตัว 32,000 ล้านบาท ธุรกิจก่อสร้างขยายตัว 23,000 ล้านบาท

 ส่วนอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ เช่น ผลิตภัณฑ์นม น้ำนมดิบ น้ำตาล เครื่องดื่มและยาสูบ อ้อย เป็นต้น ขณะที่การมีเอฟทีเอไทยกับอียูไม่ได้ทำความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยลดลงแต่ความยากจนหรือคนจนมีปริมาณลดลงจาก 7.6 % เหลือ 7 % หรือลดลง 4 แสนคน ทั้งนี้ผลการศึกษาทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

 

เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”

 ด้านนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เวียดนามจะทำเอฟที่เอกับอียูแล้วและได้ประโยชน์ทางการค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ขณะที่ไทยอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่สินค้าไทยก็ยังมีมาตรฐานได้รับความเชื่อถือจากอียูมากกว่า

อย่างไรก็ตามหากไทยยังไม่ทำเอฟทีเอกับอียูก็จะทำให้ไทยสูญเสียประโยชน์ทางการค้า โดยขณะนี้อาเซียนที่ทำเอฟทีเอกับอียูนอกจากเวียดนามแล้ว ยังมีสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์ได้เปรียบไทยเพราะความเป็นนักการค้ามีความเชี่ยวชาญด้านอาหารและภาคบริการซึ่งไทยเสียเปรียบโดยเฉพาะหมวดอาหารสำเร็จรูป ซึ่งสิงคโปร์ได้ยื่นการได้สิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าในอาเซียนโดยสินค้าใดที่สิงคโปร์มีโรงงานในประเทศใดในอาเซียนและส่งออกไปอียูก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือพร้อมกับศึกษากรณีอังกฤษออกจากเป็นสมาชิกอียูหรือเบร็กซิท

 ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสเพิ่มมาตรฐานตามที่อียูกำหนดทั้งในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐเรื่องจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรในประเทศให้ได้รับการเยียวยาและเตรียมความพร้อมให้เกิดการแข่งขันได้ในระยะยาว

 ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เอฟทีเอไทยอียู เมื่อมีผลบังคับใช้จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สด อาหารสำเร็จรูป ซอสปรุงอาหาร แกงสำเร็จรูป ผักผลไม้แปรรูปและสด อาหารทะเลสด แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น อีกทั้งเป็นการทดแทนหลังจากไทยถูกอียูตัดสิทธิทางภาษี (จีเอสพี) มาหลายปีแล้ว ซึ่งดูจากตัวเลขไทยส่งออกไปอียู 5 ปีก่อนหน้านี้มีมูลค่าถึง 3,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อไทยถูกตัดจีเอสพีพบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงต่อเนื่อง กว่าจะใช้เวลาในการฟื้นตัวและพัฒนาจนได้รายได้ทดแทนการส่งออกที่ถูกตัดจีเอสพีก็เพิ่ง 2 ปีที่ผ่านมา

เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”

                                         วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 “ในสินค้าที่เป็นโอกาสก็เป็นเรื่องท้าทาย จากหลายสินค้าทั้งในอียูและประเทศคู่เจรจากับอียูต่างก็มีการเร่งพัฒนาการส่งออกเช่นกัน เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม นมสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าก็เป็นกลุ่มที่ต้องมีการพัฒนา ส่วนกลุ่มที่ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามคือ ผักสด กาแฟ ชา และเครื่องเทศ อีกเรื่องที่น่ากังวลคือความไม่ต่อเนื่องของงบประมาณในกองทุนเยียวยาที่จะให้ความช่วยเหลือผลกระทบจากเอฟทีเอ หากเป็นการใช้งบประมาณแบบรายปีอาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญและมีการดำเนินการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ออสเตรเลียมีมาตรการปกป้องอย่างชัดเจน”นายวิศิษฐ์

 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า อียูเป็นตลาดสำคัญทั้งการส่งออกและการนำเข้าของไทย ที่ผ่านมาไทยยังคงได้ดุลการค้าแต่หากอียูทำเอฟทีเอกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามก่อนไทยทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้า อย่างกรณีเวียดนามทำเอฟทีเอกับอียู ซึ่งเวียดนามกับไทยมีกลุ่มสินค้าที่ต้องแข่งขันอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่ต่ำกว่า 1ใน 4 ของกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปอียู

เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”
                                                       วรวุฒิ อุ่นใจ 

 

ทั้งนี้ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกยังมองว่าเป็นโอกาสที่จะมีส่วนลดความกังวลของผู้ประกอบการในเรื่องกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่มีกำแพงสูงกว่าหลายประเทศในเพื่อนบ้านและทำให้เสียโอกาสการค้าของไทย เฉพาะรายการสินค้านำเข้าแบรนด์เนมซึ่งไทยมีการตั้งกำแพงภาษีที่ค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศทำให้เราเสียมูลค่าทางการค้าที่ควรจะเข้าประเทศในแต่ละปี เช่น แม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยจำนวนมาก แต่มีกำแพงภาษีสินค้าแบรนด์เนมสูงกว่า 30 % ขณะที่ประเทศอาเซียนทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว เสียภาษีในอัตราสูงถึง 15 % เท่านั้นไทยจึงไม่ได้รายได้จากการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวที่ต่อปี 2-3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมกับนักท่องเที่ยวคนไทยที่ออกไปท่องเที่ยวและซื้อสินค้าในต่างประเทศ 1-2 แสนล้านบาท และยังต้องสูญเสียรายได้ให้กับตลาดสินค้าหิ้วที่อยู่นอกระบบ ประเมินว่ามีสัดส่วน 20-30 % ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2-3 ล้านล้านบาท

เสียงหนุน FTAไทย-อียู อื้ออึง ช้าเสร็จ “เวียดนาม-สิงคโปร์”  

                                           กรันย์ สุทธารมณ์

นายกรันย์ สุทธารมณ์ นายกสมาคมการค้าบิสคลับไทย กล่าวว่า การทำเอฟทีเอไทย-อียูถือว่าเป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจไทยรายย่อย เพราะสินค้าไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นที่รู้จักของต่างชาติ การเปิดเสรีก็เป็นการเปิดโอกาสของสินค้าไทยในผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องหนัง เครื่องประดับ เครื่องนุ่งหุ่ม อาหารและพวกสินค้าโอท๊อป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายย่อยต้องมีการปรับตัวผลิตมาตรฐานสินค้า การเสริมองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน และอื่นที่เป็นข้อกำหนดการนำเข้าสินค้าของอียู นอกจากนี้เอสเอ็มอีจะต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาล