เปิดเวทีถกเอกชน ฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู

23 ก.ย. 2562 | 05:01 น.

พาณิชย์ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เปิดเวทีใหญ่ถกทุกภาคส่วนข้อดี-ข้อเสีย ก่อนสรุปผลเสนอให้กนศ.พิจารณาและเสนอเข้าครม.ต่อไป ด้านเอฟทีเอ วอทช์ ยื่นหนังสือถึง “ประยุทธ์-จุรินทร์” ขอให้ทบทวน ระบุมีอ่อนไหวหลายประเด็น เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยา หวั่นประทบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า กรมได้จัดสัมมนาโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทยกับสหภาพยุโรป(อียู) พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน(23 ก.ย.2562) หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้เตรียมการเรื่องการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเพื่อขยายตลาดส่งออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาประโยชน์และผลกระทบ

โดยกรมมอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาศึกษาให้เสร็จภายในต้นเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันจะมีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านรวมทั้งรับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย

เปิดเวทีถกเอกชน ฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู

หลังจากนั้นกรมจะรวบรวมผลการศึกษาและรับฟังความเห็นเสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจคาดว่า จะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย

 

เปิดเวทีถกเอกชน ฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู

"เอฟทีเอไทย-อียูจะช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตรต่างๆ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและมีแต้มต่อด้านสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งขณะนี้ประะทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ เวียดนาม มีการทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว ส่วนผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ จะมีกองทุนเอฟทีเอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าครม.ต่อไป"

โดยในงานสัมมนามีตัวแทนภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่ทำงานติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอให้ทบทวนเพราะมีประเด็นอ่อนไหวหลายประเด็นรวมถึงในแง่มุมที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก ทำให้เกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรด้านระบบสุขภาพ ข้อผูกพันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา

 

เปิดเวทีถกเอกชน ฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู

ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก เพื่อกล่าวคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าประเทศไทยเดินหน้ารื้อฟี้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียู โดยให้มีข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน อย่างที่เคยปรากฏในร่างความตกลงฉบับก่อน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรง จากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมากและการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

ข้อมูลในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 25,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม-และเภสัชกรรม ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 21,878 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 12,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้า 9,817ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ