โลว์คอสต์สยายปีกตปท. มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

23 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

       โลว์คอสต์แอร์ไลน์แข่งเดือด รูตบินในประเทศอิ่มตัว ดิ้นหนีตายเพิ่มฝูงบินรุกต่างประเทศ กระทบการบินไทย ถูกชิงส่วนแบ่งตลาดซํ้าเติมแผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำล่าช้า “สุเมธ” ชงบอร์ด 24 ก.ย.ไฟเขียวแผนจัดซื้อเครื่องบิน 

        ทิศทางการดำเนินธุรกิจของสายการบินต้นทุนตํ่าในไทย กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว โดยเฉพาะตลาดเส้นทางบินภายในประเทศ ส่งผลให้ทุกสายการบินต่างมุ่งขยายจุดบินในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการรับเครื่องบินใหม่เข้ามาขยายเน็ตเวิร์ก และการใช้สงครามราคาเข้ามาเป็นกลยุทธ์แข่งขัน จากแนวโน้มเช่นนี้ ทำให้การบินไทยต้องเผชิญกับสถาน การณ์ในการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบากกว่าเดิม 

           แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้จะเห็นว่าสายการบินต้นทุนตํ่าดิ้นหนี้ตาย โดยหันไปเปิดจุดบินในเส้นทางระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิดจาก3 ปัจจัยหลัก 

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

         ปัจจัยที่ 1 คือ เส้นทางบินในประเทศมีการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้เกิดการดัมพ์ราคาอย่างหนัก ทำให้รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย(Yield)ลดลงต่อเนื่อง เฉพาะสายการบินต้นทุนตํ่าที่ครองส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศ จำนวน 4 สายการบิน มีเพียงไทยแอร์เอเชีย ที่ยังคงกำไรอยู่ แต่ก็ลดลงต่อเนื่องจากเคยกำไรสูงสุด3,398 ล้านบาทในปี 2559 ลดลงมาเหลือกำไร1 27 ล้านบาทในปี 2561

ส่วนนกแอร์ ก็ขาดทุนต่อเนื่อง ปี 2557 ขาดทุน 666 ล้านบาท จนถึงปี 2561 ขาดทุน3,975 ล้านบาท ขณะที่ไทยไลอ้อนแอร์ ยังคงขาดทุนต่อเนื่องจาก ในปี 2557 ขาดทุน 821 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน1,469 ล้านบาท และไทยเวียตเจ็ท ปี2559 ขาดทุน 308 ล้านบาท ปี2560 ขาดทุน 565 ล้านบาท 

       ปัจจัยที่ 2 คือ สนามบินหลักของไทย อย่างดอนเมือง, สุวรรณภูมิ สล็อตการบินค่อนข้างจะเต็มแล้ว และหลายสนามบินในภูมิภาค ก็มีปัญหาเรื่องหลุมจอดที่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับดีมานด์

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

      ปัจจัยที่ 3 คือ ที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนตํ่าสายหลักๆของไทย มีการเปิดจุดบินในประเทศมานานหลายปี ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำให้สายการบินเหล่านี้มองหาจุดบินใหม่ในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและเจาะเซ็กเมนต์ลูกค้าใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายเน็ตเวิร์กของสายการบินต้นทุนตํ่าที่ครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศสูงสุด 3 อันดับแรก โดยไทยแอร์เอเชีย เดินหน้าเปิดจุดบินใหม่ในเอเชียใต้และจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะมีเครื่องบิน 63 ลำ และฝูงบินที่จะรับมอบเข้ามาใหม่ จะเป็นเครื่องบินแอร์บัสเอ 321 นีโอ ซึ่งจะมีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 50 ที่นั่งจากเดิมที่เป็นเครื่องแอร์บัสเอ320 จุได้230 ที่นั่ง หลังจากแอร์เอเชีย กรุ๊ปได้ปรับคำสั่งซื้อฝูงบินใหม่จากแอร์บัสเอ 320 นีโอ 253 ลำเป็นเอ 321 นีโอ 

ทั้งไทยแอร์เอเชีย ยังมีสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เป็นแนวบุกตลาดบินระยะกลางและไกลปัจจุบันนอกจากมีจุดบินครอบคลุมเมืองหลักในญี่ปุ่น ในปีหน้าก็ยังมีแผนเปิดจุดบินเมืองรองในยุโรป และในปีนี้จะรับมองเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำเป็น 14 ลำ โดยจะมีเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัสเอ 330 นีโอ เข้ามาอยู่ในฝูงบิน หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่มแอร์เอเชียเอ็กซ์ ได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เพิ่มอีก 12 ลำ รวมปัจจุบันสั่งซื้อไปแล้ว 78 ลำและซื้อรุ่นเอ321XLR อีก 30 ลำ

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

 

             

      นกแอร์ ทยอยยกเลิกรูตบินในประเทศที่ขาดทุนไปหลายเส้นทาง มุ่งขยายจุดบินใหม่ในต่างประเทศ โดยมีแผนจะเปิดบินฮิโรชิมา และยังมีสายการบินนกสกู๊ต เป็นแนวบุกตลาดเส้นทางบินระยะกลาง ซึ่งนกสกู๊ตเอง ก็เตรียมจะเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังซัปโปโร ซึ่งจะเป็นจุดบินที่ 3 ในญี่ปุ่นช่วงไตรมาส4 ปีนี้ และจุดบินใหม่ในอินเดียดด้วย หลังจากได้รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง777-200 อีก 2 ลำ รวมเป็น 7 ลำ

     ไทยไลอ้อนแอร์ ก็มีแผนเปิดจุดบินใหม่ไปยังมะนิลาและเสียมเรียบและกำลังศึกษาแผนเปิดจุดบินไปยังยุโรปและตะวันออกกลางในปีหน้า เนื่องจากจะรับมอบแอร์บัส330 นีโอเข้ามาเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีฝูงบิน33 ลำ

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

 

   แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า การขยับตัวของสายการบินต้นทุนตํ่า จะกระทบต่อธุรกิจของการบินไทย มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากการถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเส้นทางระหว่างประเทศ ซึ่งแม้การบินไทยครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ1 อยู่ที่ 45.8% แต่หากเทียบกับในภาพรวม การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดราว 25%เท่านั้น ขณะที่ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือ สายการบินต้นทุนตํ่า

        ทั้งปัจจุบันการบินไทยยังมีปัญหาเรื่องเครื่องบินไม่เพียงพอ เนื่องจากเฉพาะฝูงบินของการบินไทยมี 82 ลำ แต่ทำการบินจริงได้ 68 ลำ ส่วนอีก 14 ลำจอดเพื่อทำการซ่อมบำรุง ขณะที่สายการบินคู่แข่งนิยมใช้วิธีการเปลี่ยนเครื่องบินใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้าและลดต้นทุน ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิตในการจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำของการบินไทยก็ยังรอการอนุมัติจากรัฐบาลอยู่ 

       อีกทั้งกว่าจะอนุมัติก็จะจัดซื้อและบินตามแผน ซึ่งในช่วงปี2562-2567 การบินไทยมีแผนจะเพิ่ม 15 เส้นทางบินใหม่ ได้แก่ โอกินาวา,ต้าเหลียน,เสินเจิ้น, มาเก๊า, ซัวเถา, ไหโข่ว, หนานหนิง, กุ้ยหลิน, อู่ฮั่น,ซานย่า, อาเมดาบัด, พาราณสี, มัลดีฟส์, ภูฏานและสุราบายา สายการบินต้นทุนตํ่าก็คงขยายนำไปไกลแล้ว

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’

       นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดการบินไทยวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีการหารือถึงแผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำวงเงิน 1.56 แสนล้านบาท โดยการบินไทยยังคงยืนยันโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำตามแผนเดิม ทั้งขนาดและประเภทเครื่องบิน และแบ่งจัดหาเป็น 2 ช่วงในกรอบวงเงินเดิม ซึ่งหากบอร์ดไม่มีความเห็นเพิ่มเติมจะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนำเรื่องกลับมาทบทวน ตามขั้นตอน หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงครม.ชุดใหม่ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

โลว์คอสต์สยายปีกตปท.  มรสุมใหญ่ถล่ม‘บินไทย’