อันตราย!...อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา (1)

23 ก.ย. 2562 | 07:40 น.

หมุนเวียนกลับมาดูแลผู้อ่านอีกครั้ง...มาที่ “โรคไส้เลื่อน”  (Hernia) คือ ลำไส้มีโอกาสที่จะเลื่อนเข้าออกผ่านรูหรือผนังกล้ามหน้าท้องที่อ่อนแอ เมื่อไหร่ที่ไส้เลื่อนออกมาแล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เหมือนเดิม ถือเป็นภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจมีโอกาสที่ไส้เลื่อนถูกบีบรัดจนขาดเลือด และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อันตรายได้!!

อันตราย!...อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา (1)

มาทำความรู้จักกันโดย “รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์”  ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้อง และผ่าตัดผ่านกล้องลดนํ้าหนักรักษาโรคอ้วน ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ และประธานชมรมศัลยศาสตร์โรคไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย บอกว่า โรคไส้เลื่อน คือ โรคที่อวัยวะภายในช่องท้องบางส่วน (ซึ่งมักจะเป็นไขมันในช่องท้องหรือลำไส้) เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นผ่านรูหรือดันตัวผ่านผนังหน้าท้องที่หย่อนยานสูญเสียความแข็งแรง หรือบริเวณแผลผ่าตัด มักปรากฏเป็นก้อนตุงออกมาให้เห็น โดยปกติแล้วช่องท้องจะมีรูซึ่งลำไส้สามารถเลื่อนออกมาได้ประมาณ 3-4 รู แต่ทั้งนี้ไส้เลื่อนจะเกิดบริเวณใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในคนหนุ่มโดยมากมักจะเกิดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ส่วนผู้หญิงอาจพบไส้เลื่อนใต้ขาหนีบ โรคไส้เลื่อนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่หากเป็นนานๆ อาจมีอาการปวดหน่วงๆ เหมือนมีอะไรไหลออกมาหรือเจ็บบริเวณที่เป็น ก้อนนี้มักผลุบเข้าออกได้และยุบหายไปเมื่อนอน

อันตราย!...อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา (1)

อันตราย!...อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา (1)

โรคไส้เลื่อนแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่ และตามสาเหตุการเกิด ไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อย คือ 1.ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ หรือถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นไส้เลื่อนถุงอัณฑะ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากในผู้ชายช่องนี้จะเป็นช่องให้ลูกอัณฑะซึ่งเคยอยู่ในช่องท้องและค่อยๆ เลื่อนลงออกมาข้างนอก จากนั้นผนังหน้าท้องจะค่อยๆ ปิดเองตามธรรมชาติ แต่บางคนปิดไม่สมบูรณ์ หรือมีภาวะที่ทำให้ลำไส้เลื่อนโผล่ออกมาเป็นก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนชนิดนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ไส้เลื่อนชนิดติดคา 2.ไส้เลื่อนที่สะดือ หรือที่เรียกกันว่าสะดือจุ่นหรือโป่งเวลาร้องไห้ มักเป็นตั้งแต่แรกเกิดและจะหายได้เองเมื่ออายุ 2 ปี 3.ไส้เลื่อนกระบังลม  เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระบังลมหย่อนยาน ทำให้บางส่วนของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารเคลื่อนผ่านรูบริเวณกระบังลมที่หย่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ส่วนใหญ่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน 4.ไส้เลื่อนบริเวณใต้ขาหนีบ และ 5.ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน  ซึ่งทั้ง 2 ชนิดหลังนี้มักพบในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และสุดท้าย 6.ไส้เลื่อนที่เกิดจากแผลผ่าตัด (Incisional hernia) พบได้ในผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน เนื่องจากกล้ามเนื้อและผังพืดนั้นหย่อนยานส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวมาตุงเป็นก้อนโป่งบริเวณแผลผ่าตัด 

ฉบับนี้ขอเกริ่นให้ทราบถึงกระบวนการเกิดโรคก่อน  วิธีการรักษาจะทำอย่างไรอ่านต่อฉบับหน้าค่ะ

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2562

อันตราย!...อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา (1)