โรงไฟฟ้าไฮบริด สูตรสำเร็จ พลังงานหมุนเวียน

24 ก.ย. 2562 | 23:45 น.

 

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการพร้อมกำหนดระยะเวลาเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 โดยเบื้องต้นจะเปิดทางให้บริษัทลูกของ 3 การไฟฟ้า คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าหรือให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า 4 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าไฮบริด ตามศักยภาพของพลังงานที่มีอยู่ในชุมชน

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ.ได้เดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศสเปน และโปรตุเกส เพื่อติดตามการพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ ได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตามนโยบายพลังงานที่เข้าถึงทุกคนหรือ Energy for All ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน และแปลงเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP2018


 

 

สำหรับการศึกษาดูงานที่ประเทศสเปน ได้ศึกษาการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานและระบบกักเก็บพลังงาน ที่ Gamesa’s wind center ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่ใช้พลังงานจากดีเซล ลม และแสงอาทิตย์ โดยมีระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งจะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

อีกจุดคือการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to- Energy ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่นำขยะจากภายในชุมชนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 99.5 เมกะวัตต์  ในการเดินเครื่องจริง จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากขยะ 100% และใช้เชื้อเพลิงก๊าซขึ้นลงตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้า สามารถกำจัดขยะได้ 30 ตันต่อชั่วโมง ในปี 2561 บริษัทมีผลกำไรก่อนหักภาษี 12 ล้านยูโร

 

โรงไฟฟ้าไฮบริด  สูตรสำเร็จ  พลังงานหมุนเวียน

 

ส่วนที่ประเทศโปรตุเกส ได้ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่เขื่อน Alto Rabagao ต้นแบบโซลาร์เซลล์ลอยนํ้าในเขื่อนแห่งแรกของโลก ของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งโปรตุเกส (Energias de Portugal : EDP) ที่นำเอาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้า กำลังการผลิต 220 กิโลวัตต์ มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าของเขื่อน โดยเชื่อมโยงระบบโซลาร์เซลล์กับการใช้ทรัพยากรร่วมกับเขื่อน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดรับกับแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าตามแผน PDP2018 ที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังนํ้าตามเขื่อนต่างๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,725 เมกะวัตต์ โดยนำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563

 

นอกจากนี้ยังได้ดูงานที่ศูนย์ควบคุมสั่งการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบตามเวลาจริงของ EDP เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร ทั้งในส่วนการพยากรณ์ การควบ คุมและการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้การใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศและระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย กฟผ. มีแผนดำเนินการจัดตั้ง  RE Control Center เพื่อคาดการณ์ความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน วางแผนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะใช้งบประมาณ 16.9 ล้านบาท และเริ่มดำเนินงานในปี 2564

ปัจจุบันกฟผ.ได้เริ่มดำเนิน โครงการศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยอาศัยข้อมูลจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยธรรมชาติ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และข้อมูลสถิติในอดีต และเริ่มขั้นตอนการทดสอบแบบจำลอง โดยเริ่มทดสอบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) เพื่อหาข้อมูลว่า แบบจำลองใดมีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากที่สุด และจะดำเนินการทดสอบแบบจำลองที่ได้รับการคัดเลือก โดยเปรียบเทียบผลการพยากรณ์กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

โรงไฟฟ้าไฮบริด  สูตรสำเร็จ  พลังงานหมุนเวียน