ชวนรักษ์ป่าผืนสุดท้าย แห่งบ้านอ่างเอ็ดจันทบุรี

24 ก.ย. 2562 | 23:30 น.

ชวนรักษ์ป่าผืนสุดท้าย แห่งบ้านอ่างเอ็ดจันทบุรี

การท่องเที่ยวนั้นมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกแล้วแต่สไตล์ตัวเรา เที่ยวครั้งนี้ขอนำไปเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ติดดินนิดนึง...พาเดินป่า..โอ๊ะโอ๊ะอย่าเพิ่งตื่นเต้นไม่ลำบากอย่างที่คิดค่ะ งานนี้ตามติด ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิธรรมดี ไปงาน “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เจ้าหญิงนักพัฒนา รักษ์ป่าผืนสุดท้ายแห่งบ้านอ่างเอ็ด จันทบุรี” บอกตรงๆ ว่าชื่อบ้านอ่างเอ็ดเป็นครั้งแรกที่รู้จักจริงๆ

มารู้จักกับโครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกัน อยู่ที่ต.ตกพรม อ.ขลุง เป็นโครงการพัฒนาที่ดิน 168.25 ไร่ ที่ครอบครัวลักคุณะประสิทธิ์ มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา หวังให้เป็นป่าชุมชนและเป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ต่างๆ เน้นการมีส่วนร่วมแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง สนับสนุนการรวมกลุ่มเยาวชนปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ อนุรักษ์พืชพันธุ์ในท้องถิ่น สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน และที่ป่าแห่งนี้ เดินได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่พาเดิน เห็นว่าบรรยากาศของป่าจะมีความแตกต่างไป...ขอแปะปักหมุดไว้ก่อนว่าคราวหน้ามาต้องขอชมตอนกลางคืนบ้าง

ชวนรักษ์ป่าผืนสุดท้าย แห่งบ้านอ่างเอ็ดจันทบุรี

ทำไมต้องมาเที่ยวที่นี่!!...ขอบอกว่ากิจกรรมเพียบ..กิจกรรมแรกที่เราได้ทำคือพิธีบวชป่า เป็นการสืบชะตา อนุรักษ์ป่าต้นนํ้า ให้อุดมสมบูรณ์ ชั่วลูกชั่วหลาน... ความหมายคือห้ามตัด ล้มก็ไม่ให้ตัด ให้อยู่ไปอย่างนั้น อิ่มบุญนัก พอได้ย่างก้าวเข้าสู่เส้นทางธรรมชาติระยะ 1.5 กม.ที่มีปราชญ์ชาวบ้าน “คุณปู่เทือง” พาเดินชมป่าไปเรื่อยๆ คุณปู่ก็จะชี้ชวนให้ดูต้นไม้สมุนไพร พืชอาหารพื้นบ้านแปลกๆ แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ว่ากันว่าที่นี่ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบกกว่า 20 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 31 ชนิด

ลองไล่ให้คร่าวๆ รู้จักกันหรือไม่เอ่ย?...แต่ละต้นจะมีป้ายชื่อต้นไม้บอกเล่าคุณสมบัติไว้ด้วย อย่าง ม้ากระทืบโรง เถาคล้ายบอระเพ็ด ส่วนของเนื้อไม้กินแก้อาการปวดหัว เต่าร้างหนูใบสีเขียวสด ใบเหมือนครีบปลารากกินแก้ชํ้าใน ต้นหัสคุณ สดๆแก้ปวดฟัน ถ้าแห้งๆ เป็นคุณแต่เฉพาะคุณผู้ชาย ต้นชนูด สกัดเป็นนํ้ามันหอมระเหย คอเหี้ยคล้ายลิ้นจี่ป่า สลกบาตร เถาแบน ราบเหมือนสายสะพายบาตรพระดองเหล้าบำรุงร่างกาย ลายกนกสำหรับคนอยากเลิกบุหรี่ และครั้งแรกที่เห็นต้นสลอดทานน้อยเป็นยาระบายทานมากเกินกลายเป็นเสียชีวิต และพืชพันธุ์อีกมากมาย

ชวนรักษ์ป่าผืนสุดท้าย แห่งบ้านอ่างเอ็ดจันทบุรี

ส่วนสัตว์ก็มีแปลกๆ อย่างแมลงหางดีด กินสารอินทรีย์ในดินเป็นอาหาร แมลงชีปะขาวแมลงนํ้าที่อายุสั้นที่สุดในโลกมีความไวต่อมลพิษในนํ้าและชอบอยู่ในแหล่งนํ้าสะอาดเท่านั้น ตุ๊กแกป่าจะพบแค่ตอนกลางคืนเท่านั้น และที่น่าสนใจ “มดต้นไม้สิรินธร” มดชนิดใหม่ของโลกที่อยู่ในเถาวัลย์ฮ่อสะพายควาย มีแค่ที่นี่ ยังพบงูแสงอาทิตย์ที่ไม่มีพิษอะไรกับใคร แต่ความเข้าใจผิดทำให้กลายเป็นงูหายาก และมีประโยชน์มากกินงูพิษด้วยกัน สร้างความสมดุลในระบบนิเวศทีเดียว
ที่นี่จับเล่นได้ งูปากจิ้งจกและเขียดงู เล็กๆ มีขาโตเต็มวัยขึ้นบกขาก็จะหายไป นี่แค่ตัวอย่างคร่าวๆ เท่านั้นนะ

 

ชมป่าเสร็จออกมาทำกระดาษจากต้นกล้วยไข่ ทำเป็น กระดาษ ถุงใส่ของ เป็นกระถางปลูกต้นไม้ กล่องใส่ของกระจุกกระจิกช่วยลดโลกร้อนได้อีก และพลาดไม่ได้การร่อนพลอย แบบดั้งเดิม เพื่อมิให้ลืมวิถีดั้งเดิมว่าเป็นเหมืองพลอยมาก่อน ทั้งชื่อเสียงเลื่องลือของเมืองจันท์ นั่นก็คือพลอย สนใจเที่ยวชมสามารถเข้าไปติดต่อได้ที่สำนักงานเลย

อีกที่ที่ไม่ควรพลาด “อู่ต่อเรือพระเจ้าตาก หรือ อู่ต่อเรือเสม็ดงาม” ไปสักการะพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมฟังประวัติของอู่ต่อเรือแห่งนี้จากนายนิพนธ์ หนองริมบ้าน ประธานมูลนิธิอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งอู่ต่อเรือแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้เป็นอู่ต่อเรือเมื่อครั้งเตรียมยกทัพไปตีพม่า เพื่อกู้เอกราชสยามเมื่อ พ.ศ.2310 หน่วยโบราณคดีใต้นํ้า กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดพบซากเรือและตรวจสอบชั้นดินตามริมฝั่งอ่าว พบแอ่งนํ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะคล้ายอู่เรืออยู่หลายแห่ง พร้อมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของเรือโบราณ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือสำเภาจีนแบบฟูเจียนขนาดเล็ก สำหรับบรรทุกสินค้า มีใบสามเถาขนาดเรือยาว 24 เมตร กว้าง 5 เมตร บริเวณใกล้เคียงมีโรงเก็บเรือจำลองและเรือของชาวบ้านที่เคยใช้กันในอดีต

มาเที่ยวทั้งทีนอกจากความสุขใจที่ได้รับแล้ว ก็ควรได้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกลับไปด้วย อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่คนไทยควรต้องตระหนักมีจิตสำนึก กลับไปช่วยกันสานต่อโดยเฉพาะศาสตร์พระราชาและการรักษาหวงแหนไว้ซึ่งแผ่นดินไทย ที่บรรพบุรุษเสียสละทุกสรรพสิ่งกว่าจะกอบกู้ให้ไทยเป็นปึกแผ่นเยี่ยงทุกวันนี้...

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2562

ชวนรักษ์ป่าผืนสุดท้าย แห่งบ้านอ่างเอ็ดจันทบุรี