ปชป.จี้ ‘บิ๊กตู่’ หัวโต๊ะคุยรถไฟไทย-จีน

01 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
ปชป. ยื่นหนังสือถึง "บิ๊กตู่" แนะรถไฟความเร็วสูงกทม. –โคราช นายกฯควรนั่งหัวโต๊ะเจรจาเองโดยตรง ย้ำไม่ได้ค้านเห็นด้วย แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงต่อการลงทุนสูง แถมมีคู่แข่งทั้งมอเตอร์เวย์ – รถไฟทางคู่ ที่จะเปิดบริการใกล้เคียงกัน แจงหากผู้โดยสารน้อยไม่อาจจะไม่พอจ่ายดอกเบี้ย

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เป็นตัวแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรมประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ บริการประชาชน ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอข้อคิดต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศเดินหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ด้วยตัวเอง

โดยนายกรณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบราง รวมถึงการลงทุนที่เหมาะสมในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แต่มีข้อเสนอแนะ 6 ประการคือ 1. เส้นทางดังกล่าวจะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และอาจซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟทางคู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังจะพัฒนา 2. มองว่า โครงการดังกล่าวมีความเสี่ยงทางการเงินมากกว่า ที่ไทยจะแบกรับภาระไว้ได้ในฐานะผู้ลงทุนแต่เพียงผู้เดียว

3. การลงทุน การบริหาร และการดูแลกิจการรถไฟความเร็วสูง ควรดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ เนื่องจาก ร.ฟ.ท. มีภาระมากอยู่แล้วและยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการบริหารรถไฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร 4. การลงทุนควรผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน อย่างรอบคอบตามกฎหมาย 5. มั่นใจว่าการเจรจากับรัฐบาลจีน จะลุล่วงต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเท่านั้น และ 6. การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ อย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

"หากต้องกู้เงิน 1.7 แสนล้านบาท รัฐบาลไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยราว 3.4 พันล้านบาทต่อปี ถ้าสมมุมติว่าคิดค่าโดยสารเที่ยวละ 500 บาท หมายความว่าต้องมีผู้โดยสาร 7 ล้านคนต่อปี จึงมีรายได้เพียงพอไปชำระดอกเบี้ยจึงเห็นว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินต้องให้จีนร่วมลงทุนด้วยเท่านั้น" อดีต รมว.คลังกล่าว

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยย้ำว่า การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ปชป.ไม่ได้คัดค้านโครงการเห็นด้วยกับการลงทุน แต่เป็นข้อเสนอแนะที่รัฐบาลควรจะนำไปพิจารณาเพิ่มเติม ทบทวนบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคู่แข่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน –โคราช เส้นทางรถไฟทางคู่ที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะเสร็จใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วสูง ต้องนำไปพิจารณาถึงเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการให้ดี

ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ระยะทางระหว่าง 200-300 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้รถยนต์หรือรถยนต์ส่วนตัว ระยะทาง 500 กิโลเมตรจะใช้รถไฟความเร็วสูงระยะทาง 800 กิโลเมตรจะนิยมใช้ทั้งรถไฟความเร็วสูงและเครื่องบิน แต่ถ้าระยะทาง 1 พันกิโลเมตรจะนิยมใช้เครื่องบินมากกว่า อีกทั้งเขตเมืองขีดวงกลมในรัศมี 30 กิโลเมตรของเมืองโคราชมีประชากรอาศัยอยู่ราว 7 แสนคนซึ่งน้อยมาก ต่างจากญี่ปุ่นที่มีราว 2.6 ล้านคน ซึ่งห่างกันมาก ซึ่งตรงนี้ก็น่าเป็นห่วงเรื่องผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการ ระยะทางถึงกทม.-โคราช อาจจะสั้นไปต่อขยายให้ยาวขึ้นถึงหนองคาย เป็นต้น

"เงินคงมีพอในการก่อสร้างแต่ห่วงว่าเมื่อสร้างเสร็จการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนจะเริ่มโครงการควรคิดให้ให้รอบคอบ"

อนึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-โคราชระยะทาง 250 กิโลเมตร เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ใช้เงินลงทุน 1.7-1.9 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559